สัมภาษณ์พิเศษ…. ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง

“ทิศทางแผนขับเคลื่อนระบบราง”
เร่งดัน M-Map 2 / ทางคู่เฟส 2
จุดพลุแผนกระตุ้นเศรษฐกิจการลงทุน ปี 68

         “ระบบราง” ทั้งรถไฟหรือรถไฟฟ้าที่เปิดให้บริการในปัจจุบัน ถือได้ว่ามีส่วนช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้ประชาชนหลายเส้นทางสามารถเชื่อมโยงพื้นที่ในเมืองและชานเมืองได้อย่างลงตัว ส่งผลให้พื้นที่เมืองสามารถขยายวงกว้างนำมาซึ่งความเจริญตามมาในหลายด้าน และนั่นคือบทบาทสำคัญในการพัฒนาระบบรางภายใต้การควบคุมดูแลของกรมการขนส่งทางราง

          ถึงแม้จะมีการเปิดให้บริการไปแล้วในหลายเส้นทาง แต่กรมการขนส่งทางราง (ขร.) ภายใต้การนำของดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง ยังคงเดินหน้าพัฒนาระบบรางให้ครอบคลุมในทุกพื้นที่ตามความต้องการของประชาชนอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ได้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการพัฒนารถไฟฟ้าตามแผนแม่บททั้งในพื้นที่กรุงเทพฯและจังหวัดหัวเมืองหลัก ทั้งแผนระยะที่ 1 (M-Map 1) และแผนระยะที่ 2 (M-Map 2) โดยเพจข่าวและเว็บไซต์ข่าว www.ThaiMOTnews.com ได้สัมภาษณ์พิเศษ ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง เกี่ยวกับแผนการพัฒนารถไฟฟ้าและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในหลายประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้

         1. ช่วงครึ่งปี 2567 ต่อเนื่องไปถึงปี 2568 ขร. มีเป้าหมายขับเคลื่อนระบบรางอย่างไร
สำหรับเป้าหมายหลักนั้นมุ่งเน้นให้เกิดระบบการขนส่งทางรางที่สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ราคาเหมาะสม พร้อมผลักดันให้ระบบรางเป็นระบบขนส่งหลักของประเทศ เกิดการเชื่อมโยงระบบรางทั้งในประเทศ และระหว่างประเทศ นำมาซึ่งการยกระดับชีวิตของประชาชน ตลอดจนส่งเสริมการท่องเที่ยว กระจายความเจริญทั้งในเขตเมืองและภูมิภาค กระตุ้นระบบเศรษฐกิจของประเทศ

         โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของระบบรางนั้น ขร. ได้มุ่งเน้นการกำกับ ติดตาม การพัฒนาโครงข่ายรถไฟระหว่างเมือง ทั้งทางคู่ ทางสายใหม่ และรถไฟความเร็วสูง การพัฒนาระบบรถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมถึงเมืองหลักในภูมิภาค เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงระบบรางทั้งในประเทศ และระหว่างประเทศ โดยในส่วนของรถไฟฟ้านั้น ขร. ได้จัดทำแผนการพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลจำนวน 14 เส้นทาง ระยะทางรวม 553.41 กิโลเมตร 367 สถานี ครอบคลุมพื้นที่ให้บริการ 680 ตารางกิโลเมตร ปัจจุบันเปิดให้บริการแล้ว 13 โครงการ ระยะทางรวม 276.84 กิโลเมตร 194 สถานี คิดเป็นร้อยละ 50

          2. ลุ้นแจ้งเกิด 4 กลุ่มตามแผน M-Map 2 อีก 20 เส้นทาง ขร. อยู่ระหว่างศึกษาเพื่อพัฒนาแบบจำลองการคาดการณ์ความต้องการเดินทางด้วยระบบรางและการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล(พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะที่ 2 (M-Map 2) ผลการศึกษาเบื้องต้นได้จัดลำดับความสำคัญแผนการพัฒนา M-Map 2 จำนวน 20 เส้นทาง 167 สถานี ระยะทางรวม 270.35 กิโลเมตร

         ทั้งนี้ได้แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย (1) A1 เส้นทางที่มีความจำเป็น / มีความพร้อม (สามารถดำเนินการได้ทันที) 4 เส้นทาง 31 สถานี ระยะทางรวม 51.40 กิโลเมตร (2) A2 เส้นทางที่มีความจำเป็น / แต่ต้องเตรียมความพร้อมก่อน (คาดว่าดำเนินการภายในปี 2572) 6 เส้นทาง 41 สถานี ระยะทางรวม 51.45 กิโลเมตร (3) B เส้นทางที่มีศักยภาพ เนื่องจากผ่านการศึกษาความคุ้มค่าในโครงการ M-Map 1 หรือเป็นเส้นทางใหม่ที่มีปริมาณผู้โดยสารถึงเกณฑ์ที่จะพัฒนาเป็นระบบรถไฟฟ้าได้ 10 เส้นทาง 95 สถานี ระยะทางรวม 167.50 กิโลเมตร และ (4) C เส้นทาง Feeder 26 เส้นทาง ระยะทางรวม 389.50 กิโลเมตร

          นอกจากนั้นได้ผลักดันการดำเนินโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงทั้ง 3 เส้นทาง ได้แก่ 1.ช่วงรังสิต –มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต 2.ช่วงตลิ่งชัน – ศาลายา และ 3.ช่วงตลิ่งชัน – ศิริราช เพื่อให้สามารถเปิดให้บริการได้ภายในปี 2570 ในส่วนรถไฟระหว่างเมือง ที่ปัจจุบันโครงข่ายรถไฟระหว่างเมืองมีระยะทางรวม 4,044 กม. ครอบคลุม 47 จังหวัด โดยเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา รถไฟทางคู่สายใต้ ช่วงนครปฐม – ชุมพร ได้เปิดเดินรถทางคู่ ระยะทางรวม 420 กิโลเมตร ทำให้การเดินทางไปยังภาคใต้มีความรวดเร็วและสะดวกมากขึ้น ลดระยะเวลาเดินทางโดยเฉลี่ยมากกว่า 2 ชั่วโมง

           3. ทางคู่จ่อคิวรออีกเพียบ!!!
ดร.พิเชฐ อธิบดี ขร. กล่าวถึงความก้าวหน้าระบบรถไฟทางคู่ว่า นอกจากนี้ยังมีโครงการรถไฟทางคู่ที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง 2 โครงการ คือ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ และช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ ซึ่งอยู่ระหว่างเร่งดำเนินการเพื่อให้สามารถเปิดให้บริการประชาชนได้โดยเร็ว
สำหรับโครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 คณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้มีมติเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2566 อนุมัติดำเนินโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ระยะทางรวม 167 กิโลเมตรแล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างกระบวนการประกวดราคา คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างภายในปี 2567

        ในส่วนของโครงการรถไฟทางคู่ ระยะ 2 ที่เหลืออีก 6 โครงการนั้น แบ่งเป็น 3 โครงการที่คณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 ได้แก่ 1) ช่วงปากน้ำโพ – เด่นชัย 2) ช่วงชุมทางถนนจิระ – อุบลราชธานี 3) ช่วงหาดใหญ่ – ปาดังเบซาร์ และอีก 3 โครงการที่คณะกรรมการ รฟท. มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2567 ได้แก่ 4) ช่วงชุมพร – สุราษฎร์ธานี 5) ช่วงสุราษฎร์ธานี – ชุมทางหาดใหญ่ – สงขลา 6) ช่วงเด่นชัย – เชียงใหม่ ปัจจุบัน รฟท. ได้เสนอเรื่องมายังกระทรวงคมนาคม(คค.) และ ขร. ได้ประมวลเรื่องเสนอกระทรวงคมนาคมแล้วเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2567 หลังจากนี้ คค. จะเสนอ 3 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (กระทรวงการคลัง สํานักงบประมาณ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) ให้ความเห็นประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี(ครม.) ต่อไป คาดว่าจะสามารถเริ่มประกวดราคาและก่อสร้างได้ภายในปี 2568

         4. การพัฒนาโครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 จะช่วยพลิกโฉมระบบรางของไทยอย่างไรบ้าง
ประเด็นแรกคือด้านการบริการ ยังมุ่งเน้นการยกระดับมาตรฐานให้เทียบเท่าสากล อำนวยความสะดวก เชื่อมต่อการเดินทางให้กับประชาชน ตอบสนองการใช้บริการ ให้ประชาชนเข้าถึงการเดินทางจากต้นทางไปถึงปลายทางได้อย่างรวดเร็ว สะดวก สะอาด ปลอดภัย ตรงต่อเวลา ราคาเหมาะสม รองรับประชาชนทุกกลุ่ม เข้าถึงทุกพื้นที่
โดยในปัจจุบันได้มีการพัฒนาระบบจองตั๋วรถไฟล่วงหน้าสูงสุด 90-180 วัน ใน 58 ขบวน ครอบคลุมทั้งขบวนรถด่วนพิเศษ ขบวนรถด่วน ขบวนรถเร็ว ขบวนรถนำเที่ยว และขบวนรถพิเศษโดยสาร ทั้งสายเหนือ สายตะวันออกเฉียงเหนือ สายตะวันออก และสายใต้ โดยเริ่มเปิดจองตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เพื่ออำนวยความสะดวกรองรับเทศกาลและวันหยุดต่อเนื่อง และตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการในการวางแผนการเดินทางล่วงหน้า นอกเหนือจากการพัฒนารถไฟชั้น 3 ติดเครื่องปรับอากาศเพื่อความสบายในการเดินทางไกล ควบคู่ไปกับการวางระบบ Wi-Fi บนสถานีและขบวนรถ โดยต้องเป็นระบบที่ไม่รบกวนสัญญาณการเดินรถ

         ในส่วนเรื่องการขนส่งผู้โดยสารนั้นปัจจุบันรฟท.ได้จัดขบวนรถไฟท่องเที่ยว SRT Royal Blossom ซึ่งเป็นรถโดยสารชนิดนั่งปรับอากาศ Hamanasu (ฮามานะสุ) ที่ได้รับการสนับสนุนจากบริษัท Hokkaido Railway Company (JR Hokkaido) ประเทศญี่ปุ่น ที่รฟท. นำมาปรับปรุงและตกแต่งใหม่ ขบวนรถมีการออกแบบหน้าต่างบานกระจกกว้างเป็นพิเศษเพื่อให้สัมผัสบรรยากาศวิวสองข้างทาง มีสันทนาการบนรถพร้อมมีอาหารและเครื่องดื่มบริการซึ่งจะช่วยเสริมศักยภาพในการเดินทาง และการท่องเที่ยวภายในประเทศ จะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยสร้างงาน กระจายรายได้สู่ท้องถิ่นตามนโยบายรัฐบาล

         นอกจากนี้ยังได้กำหนดอัตราค่าโดยสาร ค่าแรกเข้า ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบขนส่งทางรางได้อย่างเท่าเทียม ตอบรับนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ลดภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชน ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยปัจจุบันได้ดำเนินการในสายสีแดงและสายสีม่วง และรัฐบาลมีนโยบายจะดำเนินการกับเส้นทางอื่นในอนาคตต่อไป

        ด้านการขนส่งสินค้าซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางการสร้างรายได้ให้รฟท.นั้น อธิบดี ขร.มองว่า ขณะนี้รฟท. เร่งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในภาคใต้ขนส่งสินค้าทางรถไฟเพิ่มมากขึ้น เพื่อลดปริมาณการขนส่งสินค้าด้วยรถบรรทุกและลดต้นทุนการขนส่ง ด้วยการพัฒนาปรับปรุงลานกองเก็บตู้สินค้าสะพลี จังหวัดชุมพรเป็นศูนย์กระจายและขนส่งสินค้าภาคใต้ โดยจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกและความปลอดภัย เช่น ติดตั้งระบบแสงสว่าง กล้องวงจรปิด รถยกตู้คอนเทนเนอร์ และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย เป็นต้น เพื่อส่งเสริมให้ชุมพรเป็น Hub ในการกระจายสินค้าที่ขนส่งทางรถไฟจากภาคใต้ไปยัง สปป.ลาว และจีนซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการขนส่งสินค้าให้กับผู้ประกอบการได้ และการปรับตารางเดินรถของขบวนรถสินค้า และลดระยะเวลาขนส่งสินค้า ด้วยการเร่งรัดการจัดซื้อตู้รถไฟโดยสารและแคร่ขนส่งสินค้า รองรับการเปิดเดินรถทางคู่ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้กับประเทศ และอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนต่อไป

        ด้านความปลอดภัย มุ่งเน้นการให้บริการด้วยระบบรางที่มีความปลอดภัยสู่มาตรฐานสากล โดยมีเป้าหมายเพื่อลดความเสี่ยงและการสูญเสียจากการเดินทางด้วยระบบขนส่งทางราง พร้อมสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนที่มาใช้บริการ โดยนำเทคโนโลยีมาใช้ไม่ว่าจะเป็นการจัดหากล้องตรวจจับโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI camera) บริเวณจุดตัดทางรถไฟ โดยทดลองติดตั้งในพื้นที่ที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจจับและป้องกันอุบัติเหตุในอนาคต และการรับเรื่องร้องเรียนต่าง ๆ และการแจ้งจุดตัดรถไฟ ผ่านแอปพลิเคชัน “DRT Crossing”

        นอกจากนี้ได้ดำเนินการติดตั้งเครื่องกั้นที่ได้มาตรฐาน ปิดทางลักผ่าน พร้อมทั้งยกเลิกจุดตัดทางผ่านเสมอระดับทางทั้งหมด และก่อสร้างทางรถไฟยกระดับ ถนนข้ามทางรถไฟ ถนนลอดใต้ทางรถไฟ พร้อมรั้วสองข้างทางตลอดแนวเส้นทาง มีส่วนช่วยลดอุบัติเหตุจากจุดตัดทางผ่านเสมอระดับส่งผลให้เกิดความปลอดภัย รวมทั้งยังได้สนับสนุนการออกแบบทางเดินเชื่อมระหว่างชานชาลา (Passenger Passage) เป็นทางลอดหรือทางยกระดับที่มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกให้กับคนพิการ เพื่อลดความเสี่ยงจากอุบัติเหตุขบวนรถไฟชนคนเดินเท้าบริเวณย่านสถานี และอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้บริการ อีกทั้งออกแบบทางรถไฟในบริเวณที่ผ่านชุมชนในรูปแบบสะพานช่วงสั้น (Short-Span Bridge) แทนทางรถไฟแบบคันดิน เนื่องจากมีระบบระบายน้ำดีกว่า ป้องกันน้ำท่วมขัง ช่วยลดอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดรถไฟ อีกทั้งได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดมาตรการป้องกันความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุจากการก่อสร้าง และดำเนินการก่อสร้างโดยคำนึงถึงความปลอดภัยอย่างสูงสุด เพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สิน นอกเหนือจากจัดทำมาตรฐานระบบระบายน้ำโครงสร้างพื้นฐานและจัดทำมาตรการลดความเสี่ยงต่อภัยระบบราง

          ส่วนด้านสิ่งแวดล้อม มุ่งเน้นการลดก๊าซเรือนกระจก โดยการประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้จากการ Shift Mode และนำมาซื้อขายเป็นคาร์บอนเครดิต เพื่อเป็นรายได้กลับคืนให้แก่ผู้ให้บริการในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่อไป โดยหลักยังเน้นส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งทางราง แทนการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และ PM 2.5 พร้อมกับการกำกับดูแลและตรวจสอบ โดยการตรวจสอบรถขนส่งทางรางไม่ให้ปล่อยควันดำ หรือมลพิษทางอากาศเกินกว่าค่ามาตรฐานกำหนด รวมทั้งการพัฒนาศึกษาวิจัยด้านการขนส่งทางราง เพื่อการลดมลพิษและการลดก๊าซเรือนกระจก เช่น รถจักรพลังงานทดแทนต่าง ๆ ควบคู่ไปกับการกำกับดูแลและตรวจสอบผู้รับจ้างให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและลดผลกระทบจากฝุ่นละออง โดยเฉพาะการก่อสร้างเส้นทางต่างๆ

         “ขร. คาดหวังว่า จากความมุ่งมั่น ตั้งใจ และนโยบายที่ชัดเจนของรัฐบาลในการพัฒนาระบบรางให้เป็นระบบหลักในการเดินทางและขนส่งของประเทศ จะสามารถสร้างความสะดวก ปลอดภัย เป็นทางเลือกหลักในการเดินทางและขนส่ง ช่วยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ ลดมลพิษสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทย กระจายความเจริญเติบโตของเมือง และสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาวได้ต่อไป” อธิบดีกรมการขนส่งทางราง กล่าวในตอนท้าย
#กระทรวงคมนาคม #กรมการขนส่งทางราง #เผยแผนเฟส2 #ระบบรถไฟฟ้า