เจาะใจ….เกษราภรณ์ กังสมุทร นายกฯ วศรท. ปี 67-68

สมาคมวิศวกรรมระบบขนส่งทางรางไทย(Thai Rail Engineering Association) (วศรท.) หรือ TREA ก่อตั้งขึ้นมาโดยผู้ผ่านการอบรมหลักสูตรการพัฒนาบุคลากรด้านวิศวกรรมระบบขนส่งทางราง (วศร.)โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อเป็นเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญและผู้มีความรู้ด้านระบบรางจากหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน ที่อยู่ในวงการระบบรางของไทย ปัจจุบันเข้าสู่ชุดที่ 5 ของคณะกรรมการบริหารสมาคมชุดใหม่โดยมีคุณเกษราภรณ์ กังสมุทร หญิงเก่งนำทีมในฐานะนายกสมาคม วศรท.หญิงคนแรกในการบริหารปี 2567-2568 นี้

ทั้งนี้เพจข่าวและเว็บไซต์ข่าว www.Thai MOT news.com ได้สัมภาษณ์พิเศษนายกสมาคม วศรท. หญิงคนแรกถึงแนวทางการบริหารจัดการองค์กรเกี่ยวกับระบบรางเพื่อเผยแพร่ให้ผู้สนใจในหลายประเด็น ทั้งแนวคิดเพื่อการสร้างความเข้มแข็งด้านระบบรางให้กับประเทศไทยและอีกหลายเรื่องที่เธอหวังต่อยอดไปสู่ความสำเร็จในภารกิจของสมาคมวศรท. จากการขับเคลื่อนในช่วงที่ผ่านมา

แนวทางและแผนการขับเคลื่อน วศรท. ปี 67-68

ประเด็นหลักคือ มุ่งดึงศักยภาพของเครือข่ายมาขับเคลื่อนการปฏิบัติงาน นั่นคือยังคงยึดแนวทางการปฏิบัติ 3 ข้อหลัก ได้แก่ 1.เน้นนำเสนอด้านวิชาการเพื่อสร้างความเป็นตัวตนของ วศรท. 2 มุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมไทย โดยเฉพาะการพัฒนาระบบราง และ 3.เสริมสร้างเครือข่ายให้แข็งแรง เพราะจุดแข็งของ วศรท. จะมีเครือข่ายที่สมาชิกมาจากหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชนหรือจากผู้ประกอบการที่เป็นโอเปอเรเตอร์ต่างๆ อาทิ จากกลุ่มบีทีเอส กลุ่มรฟม.-บีอีเอ็ม หรือ รฟท.-เอสอาร์ทีอีที เป็นต้น ตลอดจนกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาต่างๆ และอาจารย์จากสถาบันการศึกษา กลุ่มบริษัทรับเหมาจึงถือว่า วศรท. เป็นอีกหนึ่งสมาคมที่มีความหลากหลายด้านเครือข่าย

เช่นเดียวกับการประสานนำองค์ความรู้จากแหล่งต่างๆในต่างประเทศมาเพิ่มองค์ความรู้ให้ประเทศไทย เพราะเห็นว่าหลายแห่งยังต้องการความรู้เพิ่มเติมจากต่างประเทศ อาทิ จากประเทศเยอรมนี จีน ญี่ปุ่น เกาหลี มาเลเซีย ล่าสุดอินโดนีเซียแสดงความสนใจร่วมมือกับ วศรท. ในการยกระดับองค์ความรู้ระบบรางให้กับประเทศไทย

ทั้งนี้ วศรท. รุ่นแรกตั้งแต่ปี 2554 รวมระยะเวลา 13 ปีมีจำนวนทั้งสิ้น 11 รุ่นๆละ 30-35 คน รวมสมาชิกแล้วกว่า 300 คน ปัจจุบันจึงถือว่ามีความเข้มแข็งอย่างยิ่งโดยเฉพาะสมาชิกรุ่นแรกๆ ยกระดับขึ้นเป็นผู้นำองค์กรนั้นไปแล้วหลายคน ทั้งการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย การรถไฟแห่งประเทศไทย กลุ่มบีทีเอส ผู้บริหารจัดการเดินรถสายสีเขียว สายสีชมพู และสายสีเหลือง ตลอดจนองค์กรการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ผู้บริหารจัดการรถไฟฟ้า MRT อีกทั้งบริษัทรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ผู้บริหารรถไฟชานเมืองสายสีแดง แล้วยังมีสมาชิกกลุ่มบริษัทรับเหมาชั้นนำของไทย อาทิ กลุ่มอิตาเลียนไทยที่จะส่งสมาชิกเข้าอบรมทุกรุ่นที่ วศรท. จัดขึ้น

มองเป้าหมายความสำเร็จของ วศรท. ไว้อย่างไร

แน่นอนว่า 3 ประเด็นหลักจะได้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น แต่ยังยึดแนวทางจากคณะกรรมการชุดก่อตั้งที่เน้นการขับเคลื่อนสมาคมฯ นั่นคือ ยังปฏิบัติตามกลุ่มเป้าหมายต่อเนื่อง คือ เน้นด้านวิชาการ สนับสนุนสมาชิกให้ได้รับองค์ความรู้ที่ชัดเจนจริงๆไม่กระจัดกระจายให้มารวมกันอยู่เป็นศูนย์รวมองค์ความรู้อยู่ที่ วศรท. เช่นเดียวกับการเดินหน้าสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมไทย จะต้องทำให้เห็นภาพชัดเจนเป็นรูปธรรมมากขึ้น

“นับเป็นความภาคภูมิใจที่ขณะนี้มีสมาชิก วศรท. หลายรายสามารถต่อยอดองค์ความรู้ทำผลงานได้เห็นเป็นผลสำเร็จมาแล้ว รุ่นต่อมาก็สามารถต่อยอดผลการปฏิบัติได้ เช่นเดียวกับการต่อเติมให้เข้มข้นสมบูรณ์ยิ่งขึ้นยังคงเดินหน้าต่อไปด้วยเช่นกัน ประเด็นแรกคืออยากเพิ่มจุดแข็งของวศรท.ให้โดดเด่นมากไปอีก เปิดโอกาสให้หลากหลายวิชาชีพของสมาชิกวิสามัญเข้ามาร่วมขับเคลื่อนการปฏิบัติงาน ควบคู่ไปกับการเร่งพัฒนายกระดับศักยภาพด้วยหลักสูตรการฝึกอบรมต่างๆ ให้ทั้งองค์กรภาครัฐ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนภาคสถาบันการเงินที่แสดงความสนใจการพัฒนาระบบรางของประเทศไทย เช่นเดียวภาคเอกชนผู้ผลิตชิ้นส่วนต่างๆ ดังนั้นจึงต้องเร่งขยายเครือข่ายสมาชิกเพิ่มให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น จึงต้องเร่งส่งเสริมการขยายเครือข่ายพร้อมกับบูรณาการความร่วมมือต่อกัน”

มุ่งดึงความเข้มแข็งจากพันธมิตรต่างประเทศ

ต่อเรื่องนี้มองว่า วศรท. ทำเพื่อให้ครอบคลุมทั้งเรื่องการพัฒนาองค์รู้ต่างๆ เรื่องความก้าวหน้าหรือการพัฒนาเทคโนโลยี โดยในเบื้องต้นขณะนี้เทรนด์ด้านเทคโนโลยีจะมาจากทางฝั่งยุโรป เกาหลี จีน ซึ่ง วศรท. พร้อมเป็นตัวกลางประสานความร่วมมือดังกล่าวเพื่อสร้างโอกาสและสร้างทางเลือกให้ประเทศไทยมากขึ้น ให้เกิดความร่วมมือต่อกันให้มากที่สุดเพื่อให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีต่อกันในมิติต่างๆ

“แม้จะมีนโยบายความร่วมมือ แต่หากลงสู่ภาคปฏิบัติจริงๆยังไม่เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนจึงต้องลงลึกในภาคปฏิบัติให้มากขึ้น ยังมีการปรับแก้ไขระเบียบปฏิบัติต่างๆให้สอดคล้อง อาทิ การถ่ายทอดเทคโนโลยียังกระจุกอยู่เฉพาะหน่วยงานรับผิดชอบเท่านั้นไม่ได้แพร่หลายออกไปในวงกว้างทั้งต่อภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องจึงต้องหาวิธี”

มองทิศทางส่งเสริมเมกะโปรเจ็กต์ภาครัฐไว้อย่างไร

วศรท.มองว่าโครงการเมกะโปรเจ็กต์การขนส่งทางรางสามารถเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและสร้างสังคมที่มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งภาครัฐมีนโยบายการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมไทยที่เกี่ยวข้องอยู่แล้ว ยังเชื่อว่าแม้จะมีนโยบายชัดเจนแล้ว แต่หากเข้าไปช่วยขับเคลื่อนภาคปฏิบัติให้ปฏิบัติและได้ผลรับตามนโยบาย จะก่อให้เกิดการลงทุนเร็วขึ้นจะส่งผลสู่ภาคปฏิบัติในภาพรวมตามมาได้แน่ เนื่องจากจะส่งผลไปถึงโลคัลคอนเทนต์หรือการถ่ายทอดเทคโนโลยีตามมาในที่สุด

“ช่วงที่ผ่านมาจะติดขัดเกี่ยวกับระเบียบ วิธีการจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ รัฐจึงต้องเร่งแก้ไขปัญหาด้านการบริหารจัดการโครงการให้ไปสู่เป้าหมายความสำเร็จโดยเร็วได้จริงๆ ส่วนการพัฒนาอุตสาหกรรมไทย หรือ โลคัลคอนเทนต์ ปัจจุบันจะได้เห็นแผนการดำเนินการที่นำไปสู่การพัฒนาขบวนรถไฟให้สำเร็จมาแล้ว อาทิ การพัฒนาระบบรางที่จ.ขอนแก่นซึ่งเกิดจากแนวคิดของ Key person หลายๆท่าน ซึ่งเป็นสมาชิก วศรท. รุ่นแรกและรวมอีกหลายรุ่น เป็นตัวอย่างที่โดดเด่น น่าชื่นชมในความมุ่งมั่นและทำโครงการให้สำเร็จ จึงน่าจะส่งเสริมให้มีมากขึ้นได้ง่ายและรวดเร็วขึ้นทั้งองค์ความรู้และงบประมาณสนับสนุนโครงการต่างๆ” นายกวศรท. กล่าวในตอนท้าย