บีทีเอสกรุ๊ป โชว์ศักยภาพแข็งแกร่งทางธุรกิจ ทุ่มลงทุนธุรกิจ Move รุกธุรกิจ Mix กว่าพันล.

ความเคลื่อนไหวอัพเดทที่ผ่านมาของบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (“บีทีเอส”) เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2567 โดยนายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และพ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย ที่ปรึกษาประธานกรรมการ ได้ร่วมกันแถลงการณ์ถึงกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาให้กรุงเทพมหานคร (“กทม.”) และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (“KT”) ให้ร่วมกันชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงสะพานตากสิน – วงเวียนใหญ่ – บางหว้า และช่วงอ่อนนุช – แบริ่ง (เดือนพฤษภาคม 2562 ถึงพฤษภาคม 2564) และส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต (เดือนเมษายน 2560 ถึง พฤษภาคม 2564) จำนวนกว่า 11,755 ล้านบาท นับเป็นอีกหนึ่งข่าวดีที่ทำให้กลุ่มบีทีเอสได้รับข่าวเชิงบวกส่งผลต่อความมั่นใจให้กับผู้ถือหุ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยกรณีดังกล่าวกลุ่มบีทีเอสพร้อมเจรจากับกทม.หลังศาลปกครองสูงสุดพิพากษาเกี่ยวกับหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 และที่ 2 หลังใช้เวลากว่า 3 ปีในการพิสูจน์ข้อเท็จจริง และยืนบนความถูกต้อง ส่งผลให้ผู้ถือหุ้นบีทีเอสต่างโล่งใจและเริ่มเห็นภาพการขับเคลื่อนธุรกิจของกลุ่มบีทีเอสสดใสยิ่งขึ้นในครึ่งปีหลัง 2567 และแนวโน้มต่อยอดสู่ปี 2568

ทั้งนี้นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริหารกลุ่มธุรกิจ MOVE ของกลุ่มบริษัท บีทีเอส ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษ www.ThaiMOTnews.com ถึงทิศทางแผนขับเคลื่อนธุรกิจของกลุ่มบีทีเอสไว้ในหลายประเด็นที่น่าสนใจว่า โดยหลักแล้วยังคงเป็นกลุ่มธุรกิจ MOVE ที่จะติดตามความคืบหน้าของโครงการต่างๆที่รัฐต้องการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน โดยมุ่งเป้าทั้งกลุ่ม Move Mix Match โดย Move จะเป็นธุรกิจหลัก ส่วนแผนธุรกิจใหม่ขณะนี้ยังไม่มีดำเนินการ โดยยังคงติดตามความคืบหน้าเมกะโปรเจ็กต์ของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง

เผยเส้นทางรายได้ป้อนกลุ่มธุรกิจบีทีเอส

ปัจจุบันบีทีเอสยังมีแนวโน้มรายได้จากค่าเดินรถ O&M เติบโตต่อเนื่อง ปีละประมาณ 7,300 ล้านบาท โดยมีบันทึกรายได้ดอกเบี้ยรับที่เกี่ยวข้องกับโครงการรถไฟฟ้าจำนวน 4,900 ล้านบาท บันทึกรายได้ค่าก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยายเข้าเมืองทองธานี อีกจำนวน 800 ล้านบาท

ทั้งนี้ได้คาดการณ์จำนวนเที่ยวเดินทางของรถไฟฟ้าสายสีเขียวสายหลักของปีนี้ (2567-2568 ไว้ที่ 215-225 ล้านเที่ยวคน เติบโตจากปี 2566-2567 ที่มีจำนวนผู้โดยสารรวม 194.4 ล้านเที่ยวคน พร้อมกันนี้ยังได้คาดการณ์การรับรู้รายได้จากค่าโดยสาร (Farebox Revenue) จากโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูจำนวน 700-900 ล้านบาท และสายสีเหลือง จำนวน 600-800 ล้านบาท พร้อมกับเงินสนับสนุนค่าก่อสร้างจากภาครัฐของสายสีเหลืองและสายสีชมพูรวมกันประมาณ 4,800 ล้านบาทต่อปี รวมถึงกำลังจัดทำโปรโมชั่นในสายสีชมพูและสายสีเหลืองเพื่อจะเพิ่มยอดผู้โดยสารอีกด้วย

ทุ่มงบ 700 ล้านลุยธุรกิจ Move

ในส่วนภาระหนี้ค่างาน O&M พร้อมดอกเบี้ยที่กรุงเทพมหานครค้างจ่ายเกี่ยวกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2567 อยู่ที่ประมาณ 36,000 ล้านบาท (หนี้ E&M รวมดอกเบี้ยอยู่ที่ 23,000 ล้านบาท ได้รับคืนจากกทม. แล้วเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา) ในส่วนของเม็ดเงินลงทุนของกลุ่มธุรกิจ Move ประมาณ 700 ล้านบาท

ตั้งงบรุกธุรกิจ Mix อีกพันล้านบาท

ด้านธุรกิจ Mix มีผลการดำเนินงานของธุรกิจสื่อโฆษณาทั้งในระบบขนส่งมวลชนกลางแจ้งและในอาคารสำนักงานที่มีแนวโน้มดีขึ้นจากการนำเสนอแคมเปญโฆษณาที่เน้นนวัตกรรมและกลยุทธ์ที่แม่นยำให้แก่ลูกค้าโดยวีจีไอ (ในเครือกลุ่มบีทีเอส) คาดการณ์ว่าจะมีรายได้ประมาณ 6,000-6,500 ล้านบาทในปี 2567-2568 (เพิ่มขึ้น 25%-35% จากปีก่อนหน้า) มาจากรายได้จากสื่อโฆษณา 40% (2,400-2,600 ล้านบาท) โดยมีสาเหตุมาจากมาตรการสนับสนุนต่างๆของภาครัฐที่มีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ยะส่งเสริมการใช้จ่ายของผู้บริโภคและการใช้จ่ายด้านสื่อโฆษณาให้เพิ่มมากขึ้น การเพิ่มขึ้นของสื่อในรถไฟฟ้าบีทีเอสทั้งจากสายสีชมพูและสายสีเหลือง การปรับปรุงประสิทธิภาพสื่อโฆษณาให้น่าสนใจมากขึ้น และเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ อาทิ EXIT LCD และ Arc De Siam รวมถึงการใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่ทาง VGI Digital Lab มีให้มากขึ้นจากปีก่อนหน้า อย่างไรก็ดีเม็ดเงินลงทุนในธุรกิจ Mix อยู่ที่ 1,000 ล้านบาทสำหรับการลงทุนทั้งสื่อธุรกิจสื่อโฆษณานอกบ้าน ธุรกิจบริการดิจิทัลและธุรกิจการจัดจำหน่าย (VGI’s OOH= THB 500 min, Digital Service = THB 200 mn, Distribution=THB 300 min)

กลุ่มธุรกิจ TNL จ่อป้อนรายรับอีก 2 พันล้าน

ด้านธุรกิจ MATCH คาดการณ์ว่าจะมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นจาก Rabbit Holding และ TNL โดยคาดการณ์การเติบโตของธุรกิจ MATCH หลักๆเป็นกลุ่ม Rabbit Holding จากธุรกิจ Finnancial services และ Thanulux จากธุรกิจสินเชื่อที่มีหลักประกัน

โดยบริษัทคาดการณ์การเติบโตของ Rabbit Holdings หลักๆเป็นกลุ่ม Finnancial services หลักๆได้แก่ 1.ธุรกิจประกันชีวิต 2.สินเชื่อส่วนบุคคล 3.การติดตามหนี้ และ 4.ธุรกิจเช่าซื้อ โดยในปี 2566 แรบบิท โฮลดิ้งส์ได้ลงทุนในบริษัท บริหารสินทรัพย์ไพร์มโซน จำกัด (‘’ไพร์มโซน’’) มีความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) และสินทรัพย์รอการขาย (NPA) ปี 2567 ไพร์มโซนได้ตั้งเป้าขยายการเติบโตและเพิ่มมูลค่ารวมของพอร์ต NPL ที่ 2,000 ล้านบาท

“กลุ่มธนูลักษณ์ได้เข้าลงทุนในธุรกิจที่มีศักยภาพในการเติบโตเพื่อสร้างมูลค่าผลตอบแทนที่สม่ำเสมอในระยะยาวให้กับบริษัท ปัจจุบันได้ลงทุนในธุรกิจ ประกอบด้วย 3 ธุรกิจหลัก ได้แก่ 1.ธุรกิจสินเชื่อที่มีหลักประกัน ธุรกิจให้สินเชื่อที่มีหลักประกันซึ่งมีความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์โดย OXA มุ่งเน้นการให้สินเชื่อแก่กลุ่มลูกค้าบุคคลและองค์กรรายใหญ่ 2.ธุรกิจบริหารจัดการสินทรัพย์ NPLs และ NPAs บริษัทบริหารสินทรัพย์ที่เชี่ยวชาญในการบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ทั้งหนี้สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPLs) ที่มีหลักประกัน และทรัพย์สินรอการขาย (NPAs) จากสถาบันการเงิน ผ่านการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้และกระบวนการทางกฏหมาย 3.ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อขายประเภทที่อยู่อาศัย ผ่านการลงทุนใน 6 กิจการร่วมค้า ร่วมกับบริษัท โนเบิ้ลดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (NOBLE) โดยคาดการณ์รายได้ของบริษัท ธนูลักษณ์ จำกัด (มหาชน) หรือ TNL ในปี 2567 จำนวน 1,100 ล้านบาท เนื่องจากจำหน่ายหุ้นธุรกิจสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2567” นายสุรพงษ์ กล่าวในตอนท้าย