เอกชน 64 รายแห่รับฟังร่วมลงทุน ทางพิเศษ “กะทู้-ป่าตอง จ.ภูเก็ต”

กทพ. เปิดแผนดำเนินการพร้อมรับฟังความคิดเห็นภาคเอกชนสร้างโครงการทางพิเศษจังหวัดภูเก็ตระยะที่ 1 ช่วงกะทู้-ป่าตอง และระยะที่ 2 ช่วงเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้ รวมค่ากว่า 4 หมื่นล้านบาท พบเอกชน 64 รายร่วมนำเสนอความคิดเห็น ด้านกลุ่ม ITD เล็งร่วมทุนพีพีพีงานระบบ O&M เป็นการนำร่อง มีลุ้นเปิดประมูลและเริ่มก่อสร้างปีนี้ พร้อมเปิดให้บริการปี 2573

เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2568 การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กระทรวงคมนาคม เปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน (Opinion Hearing) งานศึกษาทบทวนความเหมาะสม และจัดทำรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการ ตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการทางพิเศษจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 1 ช่วงกะทู้-ป่าตอง และระยะที่ 2 ช่วงเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้ เพื่อนำความคิดเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนมาประกอบการจัดทำรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โดยมีนายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เป็นประธาน

นายสุรเชษฐ์ เปิดเผยว่า การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ได้ดำเนินโครงการทางพิเศษจังหวัดภูเก็ต เพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมทางถนน แก้ไขปัญหาการจราจร และอำนวยความสะดวกรวดเร็วในการเดินทางให้กับคนในพื้นที่และนักท่องเที่ยว ประกอบด้วยโครงการทางพิเศษ 2 ระยะ ได้แก่ โครงการระยะที่ 1 ช่วงกะทู้-ป่าตอง มีระยะทาง 3.98 กิโลเมตร และโครงการระยะที่ 2 ช่วงเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้ มีระยะทาง 30.62 กิโลเมตร รวมระยะทางของโครงการทั้ง 2 ระยะ มีระยะทาง 34.60 กิโลเมตร

กทพ. ได้ดำเนินการศึกษาแนวทางการดำเนินโครงการทางพิเศษจังหวัดภูเก็ต โดยรัฐจะรับผิดชอบงานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน กทพ. ดำเนินการออกแบบและก่อสร้างงานโยธา โครงการระยะที่ 1 ช่วงกะทู้-ป่าตอง และระยะที่ 2 ช่วงเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้ สำหรับการก่อสร้างงานระบบ และการบริหารจัดการและบำรุงรักษา (Operation & Maintenance: O&M) ของโครงการทั้ง 2 ระยะ เช่น งานระบบจัดเก็บค่าผ่านทาง และระบบควบคุมจราจร เป็นต้น

กทพ. ได้เห็นถึงความสำคัญและศักยภาพของเอกชน ดังนั้น จึงได้เปิดโอกาสให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการ โดยมูลค่าเงินลงทุนโครงการ ประกอบด้วย ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ค่าก่อสร้างงานโยธา (รวมค่าควบคุมงานก่อสร้าง) และค่าก่อสร้างงานระบบจัดเก็บค่าผ่านทางและระบบควบคุมจราจร (งานระบบ) ของโครงการ ระยะที่ 1 รวมประมาณ 16,759 ล้านบาท และโครงการ ระยะที่ 2 รวมประมาณ 45,930 ล้านบาท

โดยค่าก่อสร้างงานระบบของโครงการทั้ง 2 ระยะ รวมประมาณ 2,230 ล้านบาท ส่วนค่าดำเนินการและบำรุงรักษา (O&M) โครงการทั้ง 2 ระยะ (ระยะเวลา 30 ปี) รวมประมาณ 24,800 ล้านบาท

สำหรับการจัดเก็บค่าผ่านทางของโครงการระยะที่ 1 จัดเก็บค่าผ่านทางอัตราเดียว (Flat Rate)มีอัตราค่าผ่านทาง ณ ปีเปิดให้บริการ (ปี 2573) เท่ากับ 15/ 40/ 85/ 125 บาท สำหรับรถจักรยานยนต์/ รถ 4 ล้อ/ รถ 6-10 ล้อ/ รถมากกว่า 10 ล้อ ตามลำดับ และโครงการระยะที่ 2 จัดเก็บค่าผ่านทางตามระยะทาง (Distance-Based Rate) โดยมีอัตราค่าแรกเข้า 40/ 80/ 120 บาท และค่าผ่านทางต่อระยะทาง 1.50/ 3.00/ 4.50 บาทต่อกิโลเมตร สำหรับรถ 4 ล้อ/ รถ 6-10 ล้อ/ รถมากกว่า 10 ล้อ ตามลำดับ สำหรับการคาดการณ์ปริมาณจราจร ณ ปีเปิดให้บริการ (ปี 2573) ประมาณ 69,386 คัน/วัน
โดยโครงการมีอัตราผลตอบแทนด้านการเงิน (FIRR) เท่ากับ 1.82% และโครงการนี้มีความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจ อัตราผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจ (EIRR) เท่ากับ 18.85%

“อยู่ระหว่างกระทรวงคมนาคมเร่งนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) เฟสแรกนี้เป็นอุโมงค์ขนาดใหญ่ใช้ระยะเวลาก่อสร้างราว 4 ปีตามแผนคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างภายในปี 2568 นี้ ความล่าช้าเกิดจากการรับฟังความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยการจัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นจากนักลงทุนภาคเอกชนเพื่อทราบถึงความสนใจของนักลงทุน และการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในการตัดสินใจลงทุน รวมถึงได้รับข้อมูลที่จำเป็นครบถ้วน ประกอบการจัดทำรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โดยพบว่ามีเอกชนจำนวน 64 รายสนใจนำเสนอและรับฟังความคิดเห็น” นายสุรเชษฐ์ กล่าว

ด้านนายศักดิ์ชัย จิตรพินิจ รองประธานบริหารสายธุรกิจงานถนน-สะพาน กลุ่มที่ 1 บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเมนต์จำกัด (มหาชน) หรือ ITD กล่าวว่า ภูเก็ตสร้างรายได้หลักให้ประเทศไทย แต่กลับการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานน้อยมาก รถไฟฟ้าก็ยังไม่เกิด

“ครั้งนี้จึงเป็นโอกาสสร้างทางด่วนสายแรกในภูเก็ตและนับเป็นความท้าทายของภาคเอกชน และยังนับเป็นครั้งแรกที่ ITD จะร่วมลงทุนกับบริษัทที่เชี่ยวชาญงานระบบ O&M เข้าสู้ประมูลโครงการนี้เพียงแต่มีข้อเสนอบางประเด็นให้กทพ.พิจารณาด้วย และเชื่อว่าจะมีภาคเอกชนรายอื่นๆเข้ามาร่วมลงทุนกันจำนวนมากแน่ๆ ยืนยันว่าไม่เกินความสามารถของ ITD ที่จะเข้าไปดำเนินการ”

ทั้งนี้ โครงการทางพิเศษจังหวัดภูเก็ตนับเป็นทางเลือกในการเดินทางที่จะช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรบนถนนเทพกระษัตรี (ทางหลวงหมายเลข 402) และถนนพระบารมี (ทางหลวงหมายเลข 4029) รวมทั้งเป็นการเพิ่มศักยภาพด้านการคมนาคมและแก้ไขปัญหาการจราจรในจังหวัดภูเก็ตให้เกิดความสะดวกและปลอดภัยต่อผู้เดินทางยิ่งขึ้น