“บีทีเอส” ทดสอบความถี่ 2600 MHz สร้างความมั่นใจใช้บริการรถไฟฟ้า

บีทีเอส ร่วมกับกรมการขนส่งทางราง เปิดทดสอบระบบบริหารจัดการคลื่นความถี่ 2600 เมกะเฮิรตซ์ สร้างความมั่นใจในการให้บริการ
 
วันนี้ (24 มิ.ย.63)  บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) นำโดย นายสุมิตร      ศรีสันติธรรม ผู้อำนวยการใหญ่สายปฏิบัติการ นางสาวนริศรา  ศรีสันต์  ที่ปรึกษากลยุทธ์ฝ่ายสื่อสารองค์กร นายราชิต  รักษาสัตย์ ผู้จัดการฝ่ายบริหารจัดการทรัพย์สิน และวิศวกรรม ร่วมกับ นายสรพงศ์  ไพฑูรย์พงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (อขร.) นายเสน่ห์  สายวงศ์  วิศวกรเชี่ยวชาญพิเศษ ปฏิบัติการแทน เลขาธิการ กสทช. พร้อมทั้งผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ลงพื้นที่สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีสยาม ร่วมทดสอบการใช้งานระบบโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล คลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ ของบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) กับระบบอาณัติสัญญาณของรถไฟฟ้าบีทีเอส ที่ได้เริ่มเข้าติดตั้ง ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่าน เป็นระยะเวลากว่า 4 เดือน โดยผลการทดสอบคลื่นความถี่ดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่อการให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอสแต่อย่างใด

นายสุมิตร กล่าวว่า บริษัทฯ ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาโดยตลอด โดยดำเนินการติดตั้งวงจรกรองสัญญาณ (Filter) ที่มีลักษณะทางเทคนิคช่วยป้องกันปัญหาผลกระทบจากคลื่นความถี่วิทยุของกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล ซึ่งปัจจุบันได้ติดตั้งวงจรกรองสัญญาณ (Filter) แล้วเสร็จ ทั้งบนทางวิ่ง และสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส ครบทุกสถานี รวมทั้งได้ติดตั้งวงจรกรองสัญญาณบนขบวนรถไฟเรียบร้อยแล้วทั้ง 98 ขบวน

โดยจากการสังเกตการณ์การทดสอบระบบดังกล่าวครั้งนี้ พบการใช้งานร่วมกันของทั้งสองระบบเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และไม่เกิดอุปสรรคต่อระบบอาณัติสัญญาณการเดินรถไฟฟ้าแต่อย่างใด ทั้งนี้บริษัทฯ จะยังคงให้ความร่วมมือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเดินหน้าทดสอบอย่างต่อเนื่อง ในทุกช่วงเวลา และทุกเส้นทางเพื่อให้เกิดความปลอดภัย และสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส

ด้านนายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (อขร.) กล่าวว่า ได้ร่วมลงพื้นที่สังเกตการณ์การทดสอบการใช้งานระบบโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล คลื่นความถี่ย่าน 2500-2600 เมกะเฮิรตซ์ ของบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) ร่วมกับระบบอาณัติสัญญาณของ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) เพื่อเสริมสร้างมาตรฐานความปลอดภัยและยกระดับการให้บริการระบบการขนส่งทางรางอย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ ได้ดำเนินการติดตั้งวงจรกรองสัญญาณ (Filter) ที่มีลักษณะทางเทคนิคช่วยป้องกันปัญหาผลกระทบจากคลื่นความถี่วิทยุของกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล โดยปัจจุบันได้ติดตั้งวงจรกรองสัญญาณบนทางวิ่งและสถานีรถไฟฟ้า BTS ครบทุกสถานี จำนวน 368 ชุด รวมทั้งได้ติดตั้งวงจรกรองสัญญาณบนขบวนรถไฟเรียบร้อยแล้วจำนวน 79 ขบวน และจะดำเนินการติดตั้งเพิ่มเติมอีก 19 ขบวน

“อย่างไรก็ตาม จากการสังเกตการณ์การทดสอบระบบดังกล่าว พบการใช้งานร่วมกันของทั้งสองระบบเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และไม่เกิดอุปสรรคต่อระบบอาณัติสัญญาณการเดินรถไฟฟ้าแต่อย่างใด ดังนั้น ขอให้ประชาชนมั่นใจในมาตรฐานความปลอดภัยและระบบการให้บริการขนส่งทางราง ภายใต้การกำกับดูแลของกรมการขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคม” นายสรพงศ์ กล่าวในตอนท้าย