ทล.เปิดฟังความเห็นสร้าง 2 มอเตอร์เวย์

กรมทางหลวงเปิดเวทีระดมความเห็นจากภาคเอกชนพิจารณารูปแบบการร่วมลงทุน (Market Sounding) โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 (ทางยกระดับช่วงศรีนครินทร์ – ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ) และโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายวงแหวนกาญจนาภิเษกด้านตะวันตก (ช่วงบางขุนเทียน-บางบัวทอง)
 
วันนี้ (7 ตุลาคม 2563) เวลา 09:00 น. ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ นายสิทธิชัย บุญสะอาด วิศวกรใหญ่ด้านวางแผนและวางโครงการก่อสร้าง เป็นประธานเปิดการสัมมนาประเมินความสนใจของภาคเอกชน (Market Sounding) เพื่อระดมความเห็นและข้อเสนอแนะจากภาคเอกชนในการพิจารณารูปแบบการร่วมลงทุน โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 ส่วนต่อขยายทางยกระดับช่วงศรีนครินทร์–ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายวงแหวนกาญจนาภิเษกด้านตะวันตก ช่วงบางขุนเทียน-บางบัวทอง โครงการฯ ทั้งสองอยู่ภายใต้แผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) โดยมี นายปิยพงษ์ จิวัฒนกุลไพศาล ผู้อำนวยการกองทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองกล่าวรายงาน และมีตัวแทนจากภาคธุรกิจเอกชน กลุ่มสถาบันการเงิน กลุ่มนักลงทุน ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ และหอการค้าต่างประเทศในประเทศไทย ร่วมงานเป็นจำนวนมาก

โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 ส่วนต่อขยายทางยกระดับช่วงศรีนครินทร์–ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ  มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเดินทางบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 ซึ่งเป็นโครงข่ายสำคัญที่เชื่อมโยงพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลไปยังภาคตะวันออก อันเป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่ง และท่าเรือแหลมฉบัง ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) รวมทั้งจะช่วยบรรเทาปัญหาจราจร บริเวณทางเชื่อมเข้า-ออกท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โครงการนี้เป็นทางหลวงพิเศษยกระดับตามแนวทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 มีการเก็บค่าผ่านทางตามมาตรฐานของทางหลวงพิเศษ และมีการควบคุมการเข้า-ออกแบบสมบูรณ์ มีจุดเริ่มต้นโครงการที่ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 (จุดเชื่อมต่อทางพิเศษศรีรัช บริเวณทางแยกต่างระดับศรีนครินทร์) และจุดสิ้นสุดโครงการอยู่ที่ประมาณ กม. 18+000 ของทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 แขวงทับยาว เขตลาดกระบัง รวมระยะทางประมาณ 18.50 กิโลเมตร โดยแนวเส้นทางโครงการครอบคลุมการเชื่อมต่อโครงข่ายกับทางพิเศษสายศรีรัช ถนนศรีนครินทร์ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 โดยตลอดแนวเส้นทางมีจุดขึ้น-ลง/จุดเชื่อมต่อ และด่านเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทาง จำนวน 3 แห่ง

โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายวงแหวนกาญจนาภิเษกด้านตะวันตก ช่วงบางขุนเทียน-บางบัวทอง  มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ช่วงบางขุนเทียน-บางบัวทอง ให้เป็นทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองแบบทางยกระดับ มีการควบคุมทางเข้า-ออกโดยสมบูรณ์ เพื่อสอดรับกับถนนวงแหวนฯ ด้านตะวันออกและด้านใต้ ที่มีการควบคุม ทางเข้า-ออกโดยสมบูรณ์แล้ว ตลอดจนสามารถเชื่อมโยงกับโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองในอนาคตได้อย่างเป็นระบบ เป็นผลให้การเดินทางและการขนส่งสินค้าสะดวกและรวดเร็วขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการเดินทางและการขนส่งสินค้าลดลง เป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าของประเทศ

โครงการนี้เป็นทางยกระดับบนถนนกาญจนาภิเษก จุดเริ่มต้นโครงการอยู่ที่บริเวณทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน จุดตัดระหว่างทางหลวงหมายเลข 9 (ถนนกาญจนาภิเษก) และทางหลวงหมายเลข 35 (ถนนพระราม 2) และสิ้นสุดโครงการบริเวณทางแยกต่างระดับบางบัวทอง รวมระยะทาง 38 กิโลเมตร

โดยมีการเชื่อมต่อกับโครงข่ายทางหลวงพิเศษอื่นในรูปแบบทางแยกต่างระดับทั้งหมด 4 แห่ง ได้แก่ 1. ทางแยกต่างระดับบางขุนเทียนเชื่อมต่อกับทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 ด้านทิศใต้ ทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 สายบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว และทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอก กรุงเทพมหานคร 2. ทางแยกต่างระดับบรมราชชนนีเชื่อมต่อทางยกระดับบนถนนบรมราชชนนี  3. ทางแยกต่างระดับศรีรัช เชื่อมต่อทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร 4. ทางแยกต่างระดับบางใหญ่ เชื่อมต่อกับทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 81 สายบางใหญ่-กาญจนบุรี และตลอดสายทางมีทางขึ้น-ลง จำนวน 9 จุด เพื่อเชื่อมต่อกับโครงข่ายคมนาคมที่สำคัญเพื่อเป็นการลดภาระด้านงบประมาณ และเปิดโอกาสให้เอกชน เข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ โดยนำความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญมาบริหารจัดการโครงการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
กรมทางหลวงจึงเปิดโอกาสให้เอกชนผู้ที่มีศักยภาพเข้ามามีส่วนร่วม ในการลงทุน โดยโครงการฯ ทั้งสองแบ่งขอบเขตการลงทุนออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 งานออกแบบและก่อสร้างโครงการ ภาครัฐ/ภาคเอกชนเป็นผู้ออกแบบและก่อสร้างงานโยธา และภาคเอกชนติดตั้งงานระบบตลอดทั้งโครงการ โดยภาครัฐเป็นผู้จัดหาที่ดิน ระยะที่ 2 ดำเนินงานและบำรุงรักษา ภาคเอกชนเป็นผู้ดำเนินงานและบำรุงรักษาทั้งโครงการตลอด ระยะเวลาสัญญา โดยกำหนดกรอบระยะเวลาร่วมทุนไม่เกิน 34 ปี แบ่งเป็นระยะออกแบบและก่อสร้างโครงการ 4 ปี และ ระยะเวลาดำเนินงานและบำรุงรักษาไม่เกิน 30 ปี

ทั้งนี้ กรมทางหลวง ได้จัดการสัมมนาครั้งนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนและนักลงทุนที่มีความสนใจได้ร่วมแสดงความคิดเห็น ให้ข้อเสนอแนะต่อการดำเนินการโครงการ เพื่อนำไปสู่การสรุปแนวทางการให้เอกชนร่วมลงทุนก่อนนำเสนอขออนุมัติโครงการ