กลุ่มบีทีเอสดันสายสีชมพู ปั้นศูนย์เศรษฐกิจเมืองทองธานี

บีทีเอสชูทัพหน้า กลุ่ม NBM เดินหน้าแผนก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยายเชื่อมเข้าเมืองทองธานี ได้บีแลนด์ควักช่วย 1,250 ล้าน เผยจะเร่งให้ใช้บริการพร้อมสายหลัก จับตากลุ่มบีแลนด์เร่งโครงการในพื้นที่เพื่อพัฒนาศูนย์กลางเศรษฐกิจโซนเมืองทองรับเปิดใช้สายสีชมพู


นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยภายหลังพิธีลงนามสัญญาร่วมลงทุนการออกแบบและก่อสร้างงานโยธา การจัดหาระบบรถไฟฟ้า การให้บริการการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงรักษา โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี ฉบับแก้ไข กรณีโครงการรถไฟฟ้า สายสีชมพูส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช – เมืองทองธานี ระหว่างการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ว่า จำนวน 2 สถานีดังกล่าวของส่วนต่อขยายได้เห็นชัดเจนแล้วว่าจะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของเมืองทองธานีได้ไม่มากก็น้อย


โดยสถานีแรก MT 01 จะเชื่อมเข้ากับศูนย์ประชุมต่างๆ ส่วนสถานีที่ 2 MT02 พบว่ามีการเตรียมพื้นที่พัฒนาอีกหลายโครงการ เบื้องต้นพบว่ามีพื้นที่อาคารพักอาศัยของตำรวจเพิ่งก่อสร้างแล้วเสร็จ นอกจากนั้นบังมีข้อมูลว่าอิมแพ็คมีแผนพัฒนาอาคารต่างๆไว้อีกหลายอาคารแต่เนื่องจากอยู่ในช่วงวิกฤติโควิด-19 จึงไม่ทราบว่าจะยังเดินหน้าต่อไปอีกกี่โครงการ แต่เชื่อว่าส่วนที่เป็นอาคารเก่าคงจะได้นำมาพัฒนาหลังจากเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีชมพูนี้ไปแล้ว


เร่ง 2 สถานีเปิดพร้อมสายเมนหลัก

ทั้งนี้คาดว่าส่วนต่อขยายทั้ง 2 สถานีเริ่มจะก่อสร้างได้ช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2564 นี้เมื่อส่งมอบพื้นที่จะให้พร้อมก่อสร้างได้ทันที ระหว่างนี้ได้เตรียมการพร้อมแล้วโดยมีรายละเอียดในสัญญากำหนดไว้แล้ว จะเชื่อมกับสถานีศรีรัชที่ตั้งอยู่ด้านหน้าเมืองทองธานี ซึ่งมี 3 ชานชาลา ผู้โดยสารจะมีการเปลี่ยนขบวนรถที่สถานีศรีรัชแห่งนี้ ถ้าเป็นไปได้อยากจะให้เปิดบริการพร้อมกับสายเมนหลักที่จะเปิดให้บริการจากมีนบุรีถึงศูนย์ราชการนนทบุรี โดยอัตราค่าโดยสารยังกำหนดไว้ที่เริ่มต้น 14-42 บาทตามที่กำหนดในทีโออาร์ หากเชื่อมกับสายอื่นๆ ที่รฟม.ดูแลจะไม่มีค่าแรกเข้า ขึ้นฝั่งไหนฝั่งนั้นจะรับค่าแรกเข้า ส่วนที่จะเชื่อมกับสายสีเขียวคงจะต้องเจรจาเนื่องจากหน่วยงานดูแลเป็นคนละหน่วยรับผิดชอบ


“เงินลงทุนจำนวน 4,200 ล้านบาทจะรวมงานระบบทั้งหมดเข้าไว้ด้วย โดยบีแลนด์จะช่วยลงทุนค่าก่อสร้างในส่วนหนึ่ง หรือไม่เกิน 1,250 ล้านบาท ส่วนที่เหลือ NBM จะเป็นผู้รับผิดชอบ โดยจะมองเรื่องผู้โดยสารเป็นหลัก หากดูแนวเส้นทางเสมือนเมืองทองเป็นอีกหนึ่งสถานีปลายทาง เปรียบเทียบกับบีทีเอสมีสายสีลมกับสายสุขุมวิทเชื่อมกันที่สถานีสยาม สามารถจัดความถี่ให้บริการได้ตามความต้องการหากช่วงนั้นเมืองทองมีการจัดงาน มีประชาชนเข้าไปใช้บริการมากก็สามารถจัดขบวนรถเข้าไปให้บริการได้อย่างเพียงพอซึ่งจะได้มีการประสานงานกับทางอิมแพ็คต่อไปหากจะมีอีเว้นท์ขนาดใหญ่เพื่อจะได้เตรียมการรองรับไว้ก่อน เบื้องต้นขณะนี้รายละเอียดเรื่องความร่วมมือด้านต่างๆยังไม่ได้มีการหารือกัน แต่เชื่อว่าเมื่อเปิดให้บริการสายสีชมพูทั้ง 2 สถานีน่าจะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของเมืองทองธานีได้อย่างมาก”


ด้านนายพอลล์ กาญจนพาสน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด ผู้บริหารศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี ของกลุ่มบีแลนด์ กล่าวถึงแนวทางการดำเนินงานของอิมแพ็ค ในปี 2564 ว่ารายได้หลักของอิมแพ็ค ยังเป็นการเช่าพื้นที่จัดงาน 80% อื่นๆ ในส่วนของธุรกิจร้านอาหาร และลีเชอร์ แอนด์ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จะยังเป็นรายได้เสริมที่มีการเขยิบสูงขึ้น จากการเปิดร้านอาหารเพิ่มทั้งในและนอกพื้นที่เมืองทองธานี รวมถึงบริการเคเทอริ่งที่มีตอบโจทย์ลูกค้าทั้งระดับกลางและไฮเอนด์ด้วย

จับตาแผน 3 ปีกลุ่มบีแลนด์
สำหรับเป้าหมายธุรกิจอิมแพ็ค ปี 2564 นั้นอิมแพ็คและบางกอกแลนด์ (บริษัทแม่) วางแผนการลงทุนเรื่องหลักๆ ในช่วง 3 ปีจากนี้ ได้แก่ 1.ส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีชมพู โดยบีทีเอสเข้ามาลงทุนร่วม 2 สถานี ติดกับชาเลนเจอร์ และทะเลสาบ โดยการลงทุนของบีแลนด์บริษัทแม่มูลค่า 1,250 ล้านบาท โดยเป็นการลงทุนต่อเนื่อง รถไฟฟ้าสายสีชมพูซึ่งอิมแพ็ค โกรท รีท สร้างล็อบบี้ และสะพานเชื่อมสถานีรถไฟฟ้าชาเลนเจอร์ 1 รองรับผู้เข้าชมงาน มูลค่าราว 200 ล้านบาท

โดยพื้นที่ทะเลสาบที่จะเป็นสถานีรถไฟฟ้า บิ๊กเลคยังมีพื้นที่ว่างรอการพัฒนากว่า 300 ไร่ โดยมองไว้จะลงทุน เช่น ช้อปปิ้งมอล์ หรือ ไมซ์ เอ็กซิบิชั่น โดยหานักลงทุน พันธมิตรคู่ค้า อาจจะเป็นรีเทลรายใหญ่ๆ มาลงทุนไม่ใช่แบบที่ทำเองปัจจุบัน
เบื้องต้นได้พับแผนสวนน้ำ สวนสนุก คือจากเดิมจะร่วมกับพันธมิตรต่างประเทศแต่ยกเลิกไป แต่จะยังคงคอนเซ็ปต์การพัฒนาธุรกิจในลักษณะไมซ์ ทัวริส แอทแทรกชั่น
 
เช่นเดียวกับการก่อตั้งสถาบันสอนทำอาหาร ภายใต้แบรนด์เลอโนท (LENOTRE) ซึ่งเป็นเชนของฝรั่งเศส และสร้างโรงแรมที่พัก ซึ่งจะเป็นแห่งที่สามของอิมแพ็ค เพื่อรองรับนักเรียนจากนานาชาติที่เดินทางมาเรียน เช่น จีน เกาหลี และประเทศในภูมิภาคเอเชียใกล้ๆโดยใช้การรีโนเวตอาคารโรงแรมอีสตินเดิม ที่อยู่ริมทะเลสาบเมืองทองธานี มูลค่าลงทุนรวม 1,000 ล้านบาท
 

เช่นเดียวกับการขยายสาขาของร้านอาหาร จากปัจจุบัน อิมแพ็ค มีร้านอาหารทั้งในและนอกพื้นที่รวมแล้วกว่า 26 แห่ง ทั้งร้านอาหารจีน แบรนด์ฮ่องกง ฟิชเชอร์แมน แบรนด์ ฮ่องกงสุกี้ แบรนด์ ฮ่องกง คาเฟ่ ร้านอาหารญี่ปุ่น แบรนด์ สึโบฮาจิ แบรนด์ ไทโชเต ร้านไทย แบรนด์ ทองหล่อ แบรนด์อีสานจิ้มจุ่ม และแบรนด์ มโนราห์ และร้านฟิวชั่น แบรนด์ฟลาน โอเบรียนส์  ไอริช ผับ แบรนด์เรโทร บาร์ แบนด์บรีซ คาเฟ่ และร้านกาแฟ แบรนด์ อีส คาเฟ่ และแบรนด์พรีเมียมนำเข้าจากฮ่องกง เดอะ คอฟฟี่ อคาเดมิกส์ หรือ TCA
 

นอกจากนั้นแบรนด์ TCA กำลังได้รับความนิยมปัจจุบันมี 3 สาขา ที่สาขาหลังสวน, เกษร และเซ็นทรัล เวิล์ด ทั้งนี้ เตรียมเปิดสาขาที่ 4 โรงเรียนนานาชาติ เดอะ รีเจนท์ เหม่งจ่าย และตั้งเป้าปี 2564 ขยายสาขาครบ 20 แห่ง กระจายไปในพื้นที่โรงเรียนนานาชาติ โรงพยาบาล และห้างสรรพสินค้า

“สำหรับความท้าทายของอิมแพ็คในปี 2564 นั้นมองว่ายังเป็นเรื่องการฟื้นตัวจากผลกระทบโควิด-19 โดยส่วนตัวมองว่าภาพรวมตลาดไมซ์ช่วงโควิดยังคงไปได้ มีการปรับตัวตามสถานการณ์ในส่วนของการจัดประชุม สัมมนา ที่เป็นไฮบริด มีตติ้ง แต่ตลาดเอ็กซิชั่นออนไลน์ ยังไม่ได้รับความนิยม ด้วยลูกค้ายังอยากที่จะสัมผัสกับสินค้าจริงอยู่ ตลาดต่างประเทศกลับมาใกล้เคียงปี 62 (ก่อนโควิด) อย่างไรต้องติดตามปัจจัยเรื่องวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่จะมีผลให้การเดินทางติดต่อธุรกิจเป็นไปตามปกติ ในปี 64 ช่วง 6 เดือนแรกต่างประเทศจะยังคงเดินทางไม่ได้ แต่คาดหวังว่าสถานการณ์จะดีขึ้นเรื่อยๆ และปี 65 ธุรกิจน่าจะกลับมาเติบโตได้ 10% เทียบกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19” นายพอลล์กล่าวในตอนท้าย