บีทีเอสไลฟ์สดแจงปมภาระหนี้สายสีเขียว 3 หมื่นล.

บีทีเอส ชี้แจงความคืบหน้าการดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ยันปกป้องสิทธิ์ผู้ถือหุ้นกว่าแสนรายยังเดินหน้าทวงหนี้กว่า 3 หมื่นล้านแม้ทำหนังสือติดตามทวงถามตามกฎหมายให้กทม.-เคทีชำระหนี้ แต่ยังไร้วี่แวว

เมื่อวันจันทร์ที่ 26 เมษายน 2564 เวลา 11.00 น. นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้ชี้แจงความคืบหน้า เรื่อง “การดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว” ผ่านทางเพจ Facebook : รถไฟฟ้าบีทีเอส เพื่อปฏิบัติตามประกาศมติของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 10/2564 ที่มีคำสั่งประกาศเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา ให้งดการจัดสถานที่ให้บริการห้องประชุม ห้องจัดเลี้ยง สถานที่จัดเลี้ยง รวมถึงสถานที่อื่นใดที่มีลักษณะเดียวกัน (ในข้อที่ 25) และ (ในข้อที่ 31)

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า สืบเนื่องจากบริษัทฯ ส่งหนังสือติดตามทวงถามตามกฎหมายให้กรุงเทพมหานคร และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ชำระหนี้แก่บริษัทฯ ซึ่งปรากฏในสื่อ และหนังสือพิมพ์เป็นจำนวนมาก ซึ่งเมื่อครบกำหนดระยะเวลา 60 วัน ตามที่บริษัทฯ ได้ระบุไว้ในหนังสือทวงถามนั้น บริษัทฯ ก็ยังไม่ได้รับแจ้งถึงแนวทางการชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วนจากภาครัฐแต่อย่างใด

และต่อมาเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2564 บริษัทฯ ได้ออกจดหมายและคลิปวีดีโอชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้ผู้โดยสาร และประชาชนทั่วไปรับทราบ โดยบริษัทฯ ยืนยันว่าการใช้สิทธิทางกฎหมายที่ผ่านมา บริษัทฯ ไม่เคยกระทำการใดๆ ที่ส่งผลกระทบหรือเรียกร้องให้ภาครัฐใช้อำนาจตามกฎหมายกำหนดอัตราค่าโดยสารเพิ่มขึ้น

ณ ปัจจุบัน ทางบริษัทฯ กำลังประสบปัญหาอย่างมาก จากการต้องแบกรับภาระหนี้จำนวนมากเป็นระยะเวลานานกว่า 4 ปี นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2560 ที่เริ่มเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 2 (ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ) เพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการช่วยเหลือแบ่งเบาภาระค่าโดยสารให้แก่ประชาชน

โดยตลอดเวลาที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้พยายามติดต่อกรุงเทพมหานคร และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เพื่อหาทางออกกับปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนถึงแนวทางการชำระหนี้ ทำให้ ณ ปัจจุบัน ภาระหนี้สะสมที่ภาครัฐบาลมีต่อบริษัทฯ เพิ่มขึ้นสูงกว่า 30,000 ล้านบาท (ประกอบด้วยหนี้ค่าจ้างเดินรถตั้งแต่เดือนเมษายน 2560 จนถึงเดือนมีนาคม 2564 จำนวน 10,903 ล้านบาท และหนี้ค่าซื้อระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) จำนวน 20,768 ล้านบาท)

และล่าสุดตามที่เป็นข่าวของการประชุมสภา กทม. เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา สภา กทม. ได้ปฏิเสธการใช้งบประมาณของกทม.มาชำระหนี้ดังกล่าว และได้เสนอทางเลือกให้กับฝ่ายบริหารในการขอให้รัฐบาลสนับสนุนหรือร่วมลงทุนกับเอกชน ตามแนวทางของคำสั่ง คสช.

ดังนั้นในฐานะที่เป็นบริษัทลูกของ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และมีผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นประชาชนร่วมลงทุนอยู่จำนวนกว่า 101,700 ราย รวมถึงมีเจ้าหนี้ที่ให้เงินกู้แก่บริษัทฯ มาประกอบธุรกิจอีกเป็นจำนวนมาก จึงได้ใช้สิทธิตามสัญญาในการติดตามทวงถามกรุงเทพมหานคร และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด

“ซึ่งบริษัทฯ ได้ดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมาย และไม่ได้มีความประสงค์ที่จะนำหนี้ค้างชำระดังกล่าว มาเป็นเงื่อนไขในการแก้ไขสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวภายใต้คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 3/2562 แต่อย่างใด
แม้ว่าที่ผ่านมารัฐบาลได้พยายามหาทางแก้ไขปัญหาภาระหนี้ โดยในปี 2562 ได้เสนอขอให้ทางบริษัทฯ เป็นผู้แบกรับความเสี่ยงในผลประกอบการในระยะยาว แทนการเรียกหนี้ที่ค้างชำระดังกล่าวกับภาครัฐบาล ซึ่งนำมาสู่ผลการเจรจาร่างสัญญาแก้ไขสัญญาสัมปทานที่ได้รับความเห็นชอบโดยคณะกรรมการที่แต่งตั้งขึ้นภายใต้คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 3/2562 และผ่านการตรวจสอบในการอภิปรายไม่ไว้วางใจโดยสภาผู้แทนราษฎรแล้ว โดยในขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจและดุลพินิจของภาครัฐบาล ที่จะกำหนดใช้แนวทางใดตามที่เห็นสมควร โดยพิจารณาถึงประโยชน์สูงสุดต่อประเทศและประชาชน”

นายสุรพงษ์กล่าวต่อว่าที่สำคัญบริษัทฯ รับทราบว่าที่ผ่านมารัฐบาลได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย เพื่อพยายามแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว และบริษัทฯ ได้ให้ความร่วมมือด้วยดีกับภาครัฐบาลในการสนับสนุนและแก้ไขปัญหามาโดยตลอด ส่วนแนวทางการดำเนินการต่อไปจะเป็นเช่นไรเป็นเรื่องที่อยู่ในดุลพินิจของรัฐบาล โดยบริษัทฯ ยังคงยืนยันที่จะดำเนินการใช้สิทธิตามกฎหมายและสัญญาในขั้นตอนต่อไป เพื่อปกป้องสิทธิผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ซึ่งเป็นประชาชนรายย่อยที่ถือหุ้นอยู่จำนวนมาก

ตลอดระยะเวลากว่า 21 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2542 บริษัทฯ ได้จัดให้มีบริการระบบขนส่งมวลชนสาธารณะที่มีประสิทธิภาพ สามารถอำนวยความสะดวกให้แก่ท่านผู้โดยสารและประชาชน ช่วยบรรเทาปัญหาการจราจร และมลภาวะในกรุงเทพมหานครอย่างยั่งยืน แม้ว่าในบางช่วงเวลาที่ผ่านมาบริษัทฯ จะเคย ประสบปัญหาสถานภาพทางการเงินอย่างหนัก จนถึงกับต้องนำบริษัท ฯ เข้าฟื้นฟูผ่านศาลล้มละลายมาแล้ว

“จากการที่ต้องรับภาระลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนหลักทั้งหมด ซึ่งเป็นเพียงโครงการเดียวในประเทศไทยที่กำหนดให้เอกชนต้องเป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด รวมถึงงานโครงสร้างพื้นฐาน แต่บริษัทฯ เลือกที่จะยึดมั่นในหลักการที่จะให้บริการเดินรถที่ดีที่สุดแก่ประชาชน จึงทำให้ในช่วงเวลาดังกล่าว บริษัทฯ ยังคงให้บริการเดินรถได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อเนื่อง โดยไม่ส่งผลกระทบใด ๆ และในอนาคตบริษัทฯ จะพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้ผู้โดยสารทุกท่านได้รับบริการเดินรถที่มีประสิทธิภาพดีที่สุดอย่างต่อเนื่องต่อไป”