ติวเข้มทย.พร้อมเปิดรับนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ

“วีรศักดิ์” ยกคณะตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายการดำเนินงานแก่กรมท่าอากาศยาน ติวเข้ม 6 ข้อทั้งการพัฒนาสนามบินกาฬสินธุ์-นครพนม เร่งรัดเปิดใช้สนามบินเบตง เร่งรัดนโยบายการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสินค้า OTOP และวิสาหกิจชุมชนใช้พื้นที่ของท่าอากาศยานจำหน่ายสินค้า

นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย นายเชวงศักดิ์ เร่งไพบูลย์วงษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายทรงศักดิ์ ส่งเสริมอุดมชัย ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นางสาวดุจดาว เจริญผล ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม และนางสาวรัชนีพร ธิติทรัพย์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงคมนาคม ตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายการดำเนินงานแก่กรมท่าอากาศยาน (ทย.)โดยมี นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมท่าอากาศยาน นายสมเกียรติ มณีสถิต นายวิทวัส ภักดีสันติสกุล รองอธิบดีกรมท่าอากาศยาน และคณะผู้บริหารกรมท่าอากาศยาน ให้การต้อนรับ เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2564 ณ ห้องประชุมกรมท่าอากาศยาน

โดยนายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล ได้มอบนโยบายการดำเนินงานให้แก่กรมท่าอากาศยาน (ทย.) ดังนี้

1. เร่งรัดแผนงาน/โครงการ ที่ยังไม่ได้ดำเนินการหรือผูกพันสัญญา โดยสถานะการจัดซื้อจัดจ้างประจำปี 2564 มีจำนวนทั้งหมด 68 รายการ ลงนามสัญญาแล้ว จำนวน 51 รายการ คิดเป็นร้อยละ 75 และอยู่ระหว่างจัดซื้อจัดจ้าง จำนวน 17 รายการ คิดเป็นร้อยละ 25

2. เร่งรัดการเปิดใช้ท่าอากาศยานเบตง จังหวัดยะลา โดยเร่งแก้ไขข้อบกพร่องตามที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยในการปฏิบัติงานของท่าอากาศยาน (Demonstration and audit) เพื่อเปิดใช้เป็นสนามบินพาณิชย์ ปัจจุบันอยู่ระหว่าง กพท. พิจารณาผลการแก้ไขข้อบกพร่องครั้งที่ 2

3. ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคธุรกิจเอกชน พิจารณาแนวทางการเพิ่มโอกาสการใช้ท่าอากาศยาน อาทิ ท่าอากาศยานหัวหิน และมอบให้ ทย. จัดทำแผนงานศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาท่าอากาศยานนครราชสีมาให้เป็นท่าอากาศยานที่รองรับเที่ยวบินพาณิชย์ในการบินข้ามภูมิภาค เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ

4. เร่งรัดแนวคิดกรณีมอบให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) บริหารงานท่าอากาศยานของ ทย. ได้แก่ ท่าอากาศยานกระบี่ ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ และท่าอากาศยานชุมพร โดยรายงานผลการดำเนินงานให้ทราบเป็นระยะ

5. เร่งรัดนโยบายการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสินค้า OTOP และวิสาหกิจชุมชน ใช้พื้นที่ของท่าอากาศยานจำหน่ายสินค้าให้เกิดเป็นรูปธรรมยั่งยืนและต่อเนื่อง ตามนโยบายการตั้งศูนย์จำหน่ายและกระจายสินค้า OTOP ในพื้นที่สถานีขนส่ง สถานีรถไฟ และท่าอากาศยาน โดยเน้นการมีส่วนร่วมพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจในพื้นที่

6. ให้ทุกท่าอากาศยานในความดูแลของ ทย. ซึ่งเป็นด่านหน้าสำคัญ เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเดินทางของประชาชนและนักท่องเที่ยว หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 คลี่คลายลง พร้อมทั้งดำเนินการตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด