MOU 7 ภาคีเครือข่าย 72 หน่วยงาน ร่วมผลิต/พัฒนา-วิจัยเทคโนโลยีระบบราง

“ศักดิ์สยาม” นำทัพจับมือกับ 7 ภาคีเครือข่าย รวม 72 หน่วยงานร่วมผลิตและพัฒนาบุคลากร รองรับอุตสาหกรรมระบบรางของประเทศไทย

เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2564 เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุม ชั้น 3 อาคารสโมสรและหอประชุม กระทรวงคมนาคม นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ “การผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านระบบราง การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมด้านระบบราง เพื่อรองรับอุตสาหกรรมระบบราง” เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่าง 7 ภาคีเครือข่ายรวม 72 หน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาระบบราง ในการสนับสนุนส่งเสริมและใช้ทรัพยากรร่วมกันเพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบรางในด้านต่างๆ

โดยมีนายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม และนายกิตติพันธ์ ปานจันทร์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ผู้บริหารกระทรวงคมนาคม ดร.กาญจนา วานิชกร
รองผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ผู้แทนจากภาคีเครือข่ายและสื่อมวลชนร่วมงาน

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ที่จะยกระดับระบบราง ให้เป็นรูปแบบการเดินทางและการขนส่งหลักของประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยกระทรวงคมนาคม ในฐานะหน่วยงานหลัก จึงได้มอบนโยบายให้ทุกหน่วยงาน
ในสังกัดเร่งรัดให้มีการพัฒนาระบบการขนส่ง ให้ครบคลุมทั้ง 4 มิติ ได้แก่ ทางถนน ทางน้ำ ทางอากาศ และทางราง โดยให้ความสำคัญในด้านระบบราง และผลักดันให้มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา เพื่อทำหน้าที่จัดทำยุทธศาสตร์ด้านเทคโนโลยีระบบราง วิจัยและพัฒนา นวัตกรรม รวมทั้งพัฒนาบุคลากรด้านระบบราง และร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมให้มีการผลิต ชิ้นส่วน อุปกรณ์ และรถขนส่งทางราง โดยใช้วัสดุภายในประเทศ ตามนโยบาย Thai First ไทยทำ ไทยใช้ คนไทยต้องได้ก่อน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศและประชาชน

การลงนามบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ จึงนับเป็น “ก้าวสำคัญ” สู่การพัฒนาด้านระบบรางของไทยอย่างยั่งยืน ในการผลิตและพัฒนาบุคลากร การสร้างสรรค์เทคโนโลยีและนวัตกรรม การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ ผ่านความร่วมมือกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ที่มีความร่วมมือทางวิชาการ โดยมีหน่วยงานที่ร่วมผนึกกำลังกันมากเช่นนี้ จึงเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมยินดี และจะเป็น “ต้นแบบ” ของความร่วมมือทางด้านวิชาการที่สามารถนำไปต่อยอด กับการคมนาคมขนส่งในทุกมิติ อันจะช่วยให้งานวิชาการของไทยในด้านการคมนาคมขนส่งก้าวหน้าต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง

ด้านนายกิตติพันธ์ ปานจันทร์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง กล่าวว่า สำหรับบันทึกข้อตกลงฉบับนี้ มีหน่วยงานที่ร่วมลงนาม 7 ฝ่าย ประกอบด้วย กรมการขนส่งทางราง , สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ , สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) , หน่วยงานวิชาชีพและหน่วยงานวิจัยและรับรองด้านระบบราง , สถาบันการศึกษาที่มีหลักสูตรด้านระบบรางระดับอุดมศึกษาภาครัฐและเอกชน , สถาบันการศึกษาที่มีหลักสูตรด้านระบบรางระดับอาชีวศึกษาของรัฐและเอกชน และผู้ประกอบกิจการด้านระบบรางภาครัฐและเอกชน

โดยมีขอบเขตความร่วมมือ ได้แก่
1) พัฒนาเนื้อหาหลักสูตรการเรียนการสอนและการฝึกอบรมด้านระบบรางระหว่างผู้ประกอบกิจการด้านระบบรางและสถาบันการศึกษาทั้งในระดับอุดมศึกษา และอาชีวศึกษา 2) สนับสนุนการเรียน การฝึกอบรม การฝึกงาน โครงการสหกิจศึกษา 3) ส่งเสริมการฝึกงานของนักศึกษาในระดับอุดมศึกษา และอาชีวศึกษา ตลอดจนการเพิ่มพูนความรู้และพัฒนาทักษะให้แก่ผู้ที่สำเร็จการศึกษาแล้ว 4) วิจัยและพัฒนาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการด้านระบบราง และการผลิต คิดค้นชิ้นส่วนหรือนวัตกรรมด้านระบบราง สนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการขนส่งทางรางระหว่างหน่วยงาน 5) สนับสนุนผู้เชี่ยวชาญในการบรรยาย และถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่บุคลากรด้านระบบราง 6) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานห้องปฏิบัติการในประเทศให้มีขีดความสามารถด้านการวิเคราะห์ทดสอบคุณภาพวัสดุชิ้นส่วน และผลิตภัณฑ์ระบบรางให้ครอบคลุมการขนส่งทางรางของประเทศ 7) จัดทำมาตรฐานด้านการขนส่งทางรางและมาตรฐานที่เกี่ยวเนื่องกับการขนส่งทางราง มาตรฐานชิ้นส่วนระบบรางและผลิตภัณฑ์ระบบราง เพื่อยกระดับคุณภาพและมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ระบบรางในประเทศ 8) สนับสนุน ส่งเสริมผู้ประกอบการในการผลิตชิ้นส่วนในประเทศ (Local Content) ทดแทนการนำเข้า 9) ใช้ทรัพยากร ชิ้นส่วน เครื่องมือ และอุปกรณ์ทดสอบและทดลองที่สามารถใช้ร่วมกันได้ 10) สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และ 11) ร่วมสร้างระบบนิเวศและโมเดลธุรกิจระบบราง โดยมีระยะเวลาความร่วมมือทั้งสิ้น 5 ปี (พ.ศ. 2564 – 2569)

ภายหลังลงนามความร่วมมือแล้ว ภาคีทั้ง 7 ฝ่าย จะตั้งคณะกรรมการร่วม (Steering Committee) โดยมีอธิบดีกรมการขนส่งทางรางเป็นประธาน เพื่อขับเคลื่อนดำเนินการตามวัตถุประสงค์และขอบเขตของความร่วมมือต่อไป

สำหรับการลงนามบันทึกความร่วมมือฯ ในวันนี้ จะส่งผลให้การผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านระบบราง การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมด้านระบบรางของไทยในอนาคตก้าวหน้าและพัฒนาไปได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งจะสนับสนุนให้บุคลากรด้านระบบรางของไทยมีศักยภาพ สามารถสร้างและพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมต่างๆ ด้านระบบรางไปสู่การปฏิบัติ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมระบบรางของประเทศไทยในอนาคตได้อย่างยั่งยืน

บีทีเอส ร่วมลงนาม 7 ภาคี เครือข่ายพัฒนาอุตสาหกรรมระบบราง

ทั้งนี้ในงานดังกล่าว นายสุมิตร ศรีสันติธรรม ผู้อำนวยการใหญ่สายปฏิบัติการ เป็นตัวแทน ร่วมลงนามความร่วมมือ พร้อมด้วย นางสาวนริศรา  ศรีสันต์ ที่ปรึกษากลยุทธ์สื่อสารองค์กร บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ รถไฟฟ้าบีทีเอส ร่วมเป็นสักขีพยาน ในโครงการ “การผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านระบบราง การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมด้านระบบราง เพื่อรองรับอุตสาหกรรมระบบราง” โดยวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่าง 7 ภาคีเครือข่ายรวม 72 หน่วยงาน ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาระบบราง เนื้อหาหลักสูตรการเรียนการสอน และการฝึกอบรมด้านระบบราง, การส่งเสริมการฝึกงานของนักศึกษาในระดับอุดมศึกษา และอาชีวศึกษา, การวิจัยและพัฒนา รวมถึงการสนับสนุน ส่งเสริมผู้ประกอบการในการผลิตชิ้นส่วนในประเทศ