ปลัดคมนาคมสั่งเร่งหารือ ขับเคลื่อน “บางซื่อเมืองอัจฉริยะ”

กระทรวงคมนาคมได้ให้ความสำคัญการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟฟ้าเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งพื้นที่รอบสถานีกลางบางซื่อของการรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นพื้นที่หนึ่งที่มีศักยภาพในการพัฒนาพื้นที่เป็นเมืองอัจฉริยะรองรับการเปิดให้บริการของสถานีกลางบางซื่อ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมจึงได้มีคำสั่งกระทรวงคมนาคมแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะพื้นที่บริเวณบางซื่อเพื่อขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติ

นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะพื้นที่บริเวณบางซื่อ เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2564 โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม อาทิ ผู้แทนสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ผู้แทนกรมการขนส่งทางบก ผู้แทนกรมการขนส่งทางราง ผู้แทนการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ผู้แทนองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ผู้แทนบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ผู้แทนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ผู้แทนการรถไฟฟ้านครหลวง ผู้แทนการประปานครหลวง กรรมการผู้จัดการบริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด (SRTA) และมีรองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และรองผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยที่ได้รับมอบหมาย เป็นกรรมการและเลขานุการ

โดยมีผู้แทนฝ่ายญี่ปุ่น ประกอบด้วย กระทรวงกระทรวงทึ่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่งและการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น (Ministry of Land, Infrastructure, Transport and Tourism : MLIT) องค์กรพัฒนาและฟื้นฟูเมืองของญี่ปุ่น (Urban Renaissance Agency : UR) ผู้แทน JICA Thailand และผู้แทนสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย

นายชยธรรม์ฯ กล่าวว่า ที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้าโครงการ Smart City supported by Japan ASEAN Mutual Partnership หรือ SmartJAMP ซึ่งประเทศไทย โดยกระทรวงคมนาคมได้นำเสนอ Proposal โครงการบางซื่อเข้าร่วม โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ข้อเสนอแนะในเชิงโครงสร้างการดำเนินงานของบริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด และบริษัทผู้ให้บริการสมาร์ทซิตี้ (Smart Service Company : SSC) เพื่อให้ SSC มีโครงสร้างการดำเนินงานที่เข้มแข็งและสามารถดำเนินงานได้อย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาทิศทางการพัฒนาพื้นที่บางซื่อตามที่ผู้แทน UR เสนอ โดยที่เป้าหมายการพัฒนาพื้นที่บางซื่อ คือ การสร้างเมืองที่มีเสน่ห์ มีความน่าสนใจ เป็นที่ชื่นชอบของประชาชนชาวไทย และเป็นเมืองที่น่าภาคภูมิใจที่จะสืบทอดไปยังคนรุ่นหลัง รวมถึงการปรับปรุงสถานะทางการเงินของการรถไฟแห่งประเทศไทย จึงได้นำ Concept ของ TOD หรือ Smart city มาใช้ รวมทั้งการเปิดให้ภาคเอกชนเข้ามาลงทุน

โดยการพัฒนาพื้นที่บางซื่อมีลักษณะพิเศษ กล่าวคือ พื้นที่การพัฒนาทั้งหมด มีขนาดใหญ่จึงจำเป็นต้องมีการควบคุมการพัฒนาโดยคำนึงถึงผลกระทบ รวมทั้งความเสี่ยงในการลงทุน ประกอบกับอุปสงค์ (demand) ณ ปัจจุบันยังมีน้อย แต่มีความเป็นไปได้ที่มูลค่าของพื้นที่บางซื่อจะสูงขึ้นในอนาคต พื้นที่บางซื่อจึงจำเป็นต้องพัฒนาแบบเป็นขั้นเป็นตอน (stepwise development) โดยการเพิ่มมูลค่าของที่ดินขึ้นตามลำดับ จึงจำเป็นต้องมีแผนการพัฒนาที่มีความครอบคลุมและเป็นองค์รวม ได้แก่ แผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรวม คู่มือการพัฒนา รวมถึงการพิจารณารูปแบบธุรกิจ (Business scheme) เป็นต้น

นายชยธรรม์ฯ ได้ให้ข้อเสนอแนะต่อทิศทางการพัฒนาพื้นที่บางซื่อให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน โดยมอบหมายให้ รฟท. และ SRTA หารือในรายละเอียดของแนวทางการพัฒนาฯ (Action Plan) ร่วมกับ MLIT และ UR เพื่อให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ และมอบหมาย SRTA เร่งรัดการดำเนินการเพื่อสมัครเข้ารับการประเมินการเป็นเมืองอัจฉริยะต่อคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะต่อไป

นอกจากนี้ ที่ประชุมมอบหมายคณะทำงาน (Working Team) เพื่อร่วมพิจารณารายงานการศึกษาร่วมกับฝ่ายญี่ปุ่น โดยมีองค์ประกอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงการคลัง สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล สำนักงานนโยบายแผนการขนส่งและจราจร การรถไฟแห่งประเทศไทย และบริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด ก่อนเสนอคณะกรรมการขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะพื้นที่บริเวณบางซื่อพิจารณาเพื่อให้โครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะพื้นที่บริเวณบางซื่อเป็นไปตามแผนที่วางไว้ตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม

#ปลัดกระทรวงคมนาคม #นายชยธรรม์ พรหมศร #บางซื่ออัจฉริยะ #การรถไฟแห่งประเทศไทย #สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร #สนข. #สถานีกลางบางซื่อ