เปิดใจ “คีรี กาญจนพาสน์” กว่าจะมาเป็นรถไฟฟ้าบีทีเอส(ตอนที่ 1)
(ตอน 1)
ปัจจุบันรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่กรุงเทพมหานครเป็นเจ้าของโครงการ และมีบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัดหรือเคที ทำหน้าที่บริการโครงการ และระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสเป็นผู้บริหารจัดการเดินรถ เริ่มเปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2542 ขณะนี้จึงผ่านการเปิดให้บริการมาแล้ว 23 ปี เหลืออีกกว่า 7 ปีที่จะครบกำหนดสัญญาสัมปทาน สามารถสร้างงานให้น้องๆคนไทยได้ราว 3,000 คน(ไม่รวมรปภ.-แม่บ้าน) อีกทั้งในเร็วๆนี้ยังจะสร้างงานในโครงการเดินรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสีเหลืองที่กลุ่มบีทีเอสได้รับสัมปทานได้อีกเท่าตัว
ความสำเร็จในเรื่องนี้ผู้ที่จะถ่ายทอดประสบการณ์ชีวิตได้ดีคงไม่มีใครเหมาะสมไปกว่า คุณคีรี กาญจนพาสน์ ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ที่กล่าวถึงอุปสรรคปัญหาต่างๆในการเข้าไปลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐว่าอย่ามองแต่ความหอมหวานเพียงอย่างเดียวเพราะยังมีอีกหลายสิ่งซ่อนอยู่กว่าจะประสบความสำเร็จอย่างทุกวันนี้
กว่าจะเป็นบีทีเอส
ความจริงก่อนอื่นผมต้องขอเรียนก่อนนะครับว่าบางคนเข้าใจว่าผมเป็นคนฮ่องกงที่หัดพูดภาษาไทย ผมจะพูดไม่ได้ชัดเต็มที่เพราะว่าไปอยู่ต่างประเทศตั้งแต่อายุ 13 ปี ผมเกิดในเมืองไทย ในกรุงเทพฯ ที่เยาวราชนี้ละครับ เคยเรียนโรงเรียนมัธยมที่สหะพาณิชย์ เคยเรียนโรงเรียนจีน ภาษาอาจจะพูดไม่ชัดมาก
ตั้งแต่ผมเริ่มทำงานที่ฮ่องกงเป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจค้าปลีก เรื่องของกลุ่มอาหารภัตตาคาร ตอนนั้นคุณพ่อทำธุรกิจอาจจะใหญ่กว่า เรื่องของธนาคาร เรื่องของที่ดินโรงงานต่าง ๆ ในฮ่องกง และในกรุงเทพฯ ผมก็ไม่ได้เข้าไปทำงานในครอบครัวมากเท่าไร
ตั้งแต่อายุ 20 ต้นๆผมก็เริ่มทำกิจการที่ตัวเองอยากจะทำ ซึ่งตอนนั้นก็เรื่องทำอาหาร ทำภัตตาคาร ทำค้าปลีก ค้าปลีก ที่ใหญ่ที่สุดตอนนั้นก็คือผมเป็นตัวแทนแบรนด์พูมา (PUMA) ซึ่งตอนนี้ก็มีชื่อเสียงพอสมควร แต่สมัยนั้นก็คือใหม่เลยสำหรับตลาดทางเอเชีย ผมกล้าพูดได้เต็มปากว่าผมเป็นคนสร้างแบรนด์นี้ขึ้นมา นอกเหนือจากเป็นแบรนด์รองเท้าฟุตบอล ซึ่งจะไม่ค่อยมีเสื้อผ้าแฟชั่นเท่าไร ผมก็นำแบรนด์นี้ทำการตลาดในเอเชียทั้งหมดเลย นอกเหนือจากญี่ปุ่นและไต้หวัน สู่ธุรกิจของเสื้อผ้า แบรนด์พูมาเข้ามา และก็รองเท้าต่าง ๆ รองเท้าที่นอกเหนือจากสมัยนั้นดัง ๆ ก็คือรองเท้าซอคเกอร์ รองเท้าฟุตบอล
หลังจากนั้นได้นำบริษัทไปเข้า IPO ที่ตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง และก็ถือว่าเป็นการระดมทุนครั้งแรกของบริษัทฯ ที่ฮ่องกงวันนั้น ตอนนั้นก็มีการพิจารณาว่าจะนำเงินที่ได้จาก IPO ไปทำธุรกิจอะไรดี นอกเหนือจากธุรกิจต่อเนื่องที่ทำธุรกิจในฮ่องกง ก็เคยคิดว่าควรไปลงทุนที่เมืองจีนดีไหม ซึ่งผมก็ได้ไปติดต่อเยอะแยะที่เมืองจีน สุดท้ายผมตัดสินใจว่าจะเอาเงินก้อนนี้มาลงทุนที่เมืองไทย ก็ยังถือว่านี้คือบ้านเกิดผม
ลงทุนธุรกิจในประเทศไทย
ทำไมต้องเมืองไทย ก็คุณพ่อผมทำอสังหาริมทรัพย์อยู่ที่เมืองไทย ผมก็เลือกมาทำธุรกิจแรกในเมืองไทย ก็คือธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ นั้นก็คือ “ธนาซิตี้” ซึ่งเป็นพื้นที่ใหญ่ผืนหนึ่งประมาณ 1,300 ไร่ ผมได้ทำทีเดียวเลย โดยทำเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน 1,000 กว่าไร่ และก็เริ่มขาย แล้วก็ขายดีมาก จนสามารถนำบริษัทธนายง จำกัด เข้าไประดมทุน IPO ในตลาดหลักทรัพย์ไทย นั่นก็เป็นอีกครั้งหนึ่งที่บริษัทฯ ได้เงินจาก IPO
ตอนนั้นผมก็เริ่มคิดว่าอสังหาริมทรัพย์ก็เป็นธุรกิจหนึ่งที่สำคัญ แต่ผมมองไปถึงว่าสมัยนั้นรถก็เริ่มติดบ้างละ มาจากทางด่วนหรือว่ามอเตอร์เวย์ แต่ติดมากประมาณปี 2535 -2536 ซึ่งบีทีเอสเริ่มประมูล 2534 เป็นการชนะประมูลจากอีก 2 บริษัท เราเป็นบริษัทที่เสนอโครงการสมบูรณ์ที่สุด ท่านจำลอง ศรีเมือง เลือกเราเป็นผู้ชนะ เท่าที่ผมจำได้คนที่ประมูลแข่งขันกลุ่มแรกเป็นเบนซ์ธนบุรี กลุ่มที่ 2 เป็นของหมอบุญ และก็เราในนามธนายง แต่ว่าการก่อสร้างของบีทีเอสผ่านเรื่องราวที่ไม่น่าเชื่อมาเยอะแยะ โดยการแก้จราจรด้วยการใช้รถไฟฟ้า แต่กลับกลายเป็นว่าคนอื่นมองเป็นการบดบังทัศนียภาพ หรือถ้าเกิดไฟไหม้ขึ้นมาไม่สามารถเอารถดับเพลิงไปดับได้ และก็เป็นสิ่งที่น่าเกลียดมากที่จะมีรถไฟฟ้าลอยฟ้าในกรุงเทพฯ
ต่อต้าน ‘คนกรุงไม่เอารถไฟฟ้า’
คือผมคิดต่างจากกลุ่มคนที่ต่อต้านเป็นเรื่องเป็นราว แต่ผมดูจากต่างประเทศ และที่ฮ่องกงเป็นหลัก ผมเห็นเลยว่าวิธีการแก้ปัญหาจราจรไม่มีทางอื่นเลยนอกจากจะต้องทำระบบแบบนี้ รถไฟฟ้า ที่ลอยฟ้าเพราะสร้างลอยฟ้าถูกกว่าสร้างใต้ดินประมาณ 3 เท่า เรื่องของการเดินรถถูกกว่า ระยะเวลาถูกกว่าแน่นอน ซึ่งขบวนหนึ่งคนขึ้นไปใช้หลัก 1,000 คน รถยนต์เฉลี่ยใช้ไม่ถึง 2 คน mass transit หรือระบบขนส่งมวลชนเป็นที่ยอมรับ และเข้าใจกันหมดทั้งโลกว่าจะต้องใช้ระบบขนส่งมวลชน นอกเหนือไปจากรถเมล์
แต่การต่อต้านตอนนั้น เหตุผลผมว่าไม่มีนอกจากความคิดที่ว่าไม่สร้างสรรค์ แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตามผมก็ต่อสู้หลายปีเลยทีเดียว ผมอาจจะดื้อหน่อยก็ได้ว่าอย่างที่ผมคิดนะมันถูกต้อง ผมก็จะไม่ยอมท้อถอย และเดินหน้าไป จนสุดท้ายก็ได้ระบบขนส่งมวลชนครั้งแรกของประเทศไทย
อย่างไรก็ตามผมคำนวณผิดไปอย่าง ว่าจากการที่รถติดขนาดนั้นคนต้องออกมาใช้รถไฟฟ้ามากเลยทีเดียว สุดท้ายแล้วมันไม่ใช่ จากที่ปรึกษาคำนวณออกมาว่ามันจะต้องได้อย่างงั้น ๆ ว่ามันควรจะได้กี่แสน ซึ่งไม่ใช่เลย เราเปิดให้บริการฟรี 2 อาทิตย์ ก็มีคนมาใช้บริการแสนคนเท่านั้นเอง ตนจึงกลัวมากเลย กลัวการลงทุนมหาศาล เพราะเราเป็นคนลงทุนหมดทุกบาท ทุกสตางค์ เพราะ กทม. ไม่ได้ช่วยอะไรเลย เพียงแต่ว่าให้ไปตั้งกลางถนนได้ เอาตอม่อไปตั้งบนเกาะกลางถนนได้ ซึ่งไม่มีที่ดินให้เราสักนิ้วเลย เพราะกทม.เองก็ไม่มีที่เท่าไรตามที่ผมเข้าใจนะ
เราไม่มีที่ดินในการบริหารในการหารายได้เข้ามา เพราะสถานีก็ลอยฟ้าหมด แต่สามารถให้คุณไปหารายได้จากการโฆษณา ซึ่งตอนแรกๆ ก็ไม่มีคนทำโฆษณา เพราะคนใช้น้อยมาก มันเป็นอะไรบางอย่างที่ใหม่มากสำหรับชาวกรุงเทพฯ เราประมูลชนะ 13 กม. นั่นคือทีโออาร์ที่ออกมาตอนนั้น แต่พอเราโดนต่อต้านเราต้องขยายโรงจอดรถออกไปจากถนนสารสิน สุดท้ายก็ได้ที่ดินตรงหมอชิต เป็นที่ทำเด็ปโป้(จุดจอดและซ่อมบำรุง) ฉะนั้นเส้นทางรถไฟฟ้าจาก 13 กม.ครึ่ง เลยออกมาเป็น 23 กม.ครึ่ง
“โดยช่วง 13 กม.ครึ่งที่เราประมูลได้ที่จริงเป็นแบบ light rail ใช้เพียง 13.5 กม. โดยไม่มีใครเคยจะคิดว่าวันหนึ่งมันจะเล็กเกินไปไหม ก็แปลกนะฮะ จากที่เราโดนต่อต้านๆ จนต้องออกมา 10 กม. ทำให้ระบบนี้กลายเป็นระบบมาตรฐาน เส้นสายทางใหญ่ขึ้น ยาวขึ้น ระบบก็กลายเป็นมาตรฐานที่สามารถทำได้ถึง 6 ตู้โดยสาร”