เร่งขับเคลื่อนแผนธุรกิจ กทท. เคาะประมูล ‘พัฒนาสินทรัพย์-ดันฮับโลจิสติกส์’

“….ความตั้งใจจริงอยากจะพัฒนาพื้นที่คลองเตยให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด สร้างความเป็นอยู่ให้ทุกคนทุกครอบครัวดีขึ้น มุ่งเน้นการใช้พื้นที่ที่หลายคนได้เคยอยู่อาศัยมานานให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน และต่อประเทศชาติให้มากที่สุด….”

เมื่อผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) คนใหม่เข้ามารับตำแหน่งเชื่อว่าหลายคนคงอยากเห็นข้อมูลแผนธุรกิจว่าจะเดินหน้าพัฒนาพื้นที่ย่านคลองเตยและสร้างการมีส่วนร่วมรับฟังความเห็นจากชุมชน ตลอดจนเร่งบูรณาการหน่วยเกี่ยวข้องหรือไม่อย่างไร
       
โดยเฉพาะแผนผลักดันโครงการ Smart Community ด้านที่อยู่อาศัยเพื่อชุมชนเมืองนำการพัฒนาเมืองให้เป็นแลนด์มาร์คใหม่ย่านคลองเตย พร้อมพัฒนาสินทรัพย์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และผลักดันนโยบายแผนขับเคลื่อนสายการเดินเรือแห่งชาติที่จะปั้นไทยให้เป็นศูนย์กลางการเดินเรือระดับโลกตามนโยบายของรัฐบาล

ทั้งนี้ นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ www.thaimotnews.com ว่า ขณะนี้ กทท. เริ่มนำงานระบบเดิมมาดำเนินการให้ต่อเนื่องโดยอาศัยความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ พร้อมกับการเร่งแก้ไขปัญหา อาทิ เรื่องท่าเทียบเรือชายฝั่ง ให้รองรับเรืออย่างเพียงพอและแนวทางแก้ไขการจราจรแออัดบริเวณท่าเทียบเรือ

เร่งขับเคลื่อนเส้นทางเดินเรือแห่งชาติอย่างไร
        ผู้อำนวยการ กทท.ให้ข้อมูลเรื่องรายได้ในปีนี้ว่า หากกล่าวถึงรายได้ปี 2565 เทียบกับปี 2564 กทท.ยังรักษาระดับรายได้ใกล้เคียงกันเอาไว้ได้  ส่วนค่าใช้จ่ายมีเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ภาพรวมจึงยังเดินหน้าต่อไปได้ เมื่อปัจจัยบวกยังมี ดังนั้นวิสัยทัศน์การขับเคลื่อนไปข้างหน้าจึงสำคัญ โดยเฉพาะการผลักดันให้เป็นท่าเรือระดับโลกควรจะทำอย่างไรจึงต้องวิเคราะห์ปัญหาโจทย์ต่าง ๆ อย่างรอบคอบ ขณะนี้อยู่ระหว่างเร่งเดินหน้าสรุปผลการศึกษาตามแผนเส้นทางเดินเรือแห่งชาติ
       
เช่นเดียวกับปมปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน หรือค่าระวางที่เพิ่มขึ้น ซึ่งสายการเดินเรือแห่งชาติจะเข้ามาเติมเต็มทั้งเรื่องปริมาณ- ซัพพลายที่เพิ่มขึ้น โดยเรื่องสายการเดินเรือแห่งชาติท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ) และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม (นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ) มอบนโยบายให้เร่งดำเนินการ ขณะนี้อยู่ระหว่างสรุปผลการศึกษาซึ่งในเบื้องต้นจะขับเคลื่อนผ่านระบบโดเมสติกไลน์ไปก่อน บางมาตรการหากพร้อมนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการการท่าเรือฯ (บอร์ด) กระทรวงคมนาคม และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบก็พร้อมจะดำเนินการทันที
       
“ตั้งใจว่าจะพบสื่อมวลชนอย่างน้อยไตรมาสละ 1 ครั้ง เพื่อให้ข้อมูลความคืบหน้าโครงการต่าง ๆ เผยแพร่สู่นักลงทุน ผู้ใช้บริการ และประชาชนผู้สนใจทั่วไป เชื่อมั่นว่าจะเป็นที่สนใจจากนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศอย่างแน่นอน”
       
ผู้อำนวยการกทท.กล่าวต่ออีกว่า เช่นเดียวกับแนวทางการสนับสนุนท่าเรือเพื่อการท่องเที่ยวริมแม่น้ำ กทท.ยังให้ความสำคัญต่อเนื่องเพื่อให้เกิดผลการต่อยอดทางธุรกิจไปในหลากหลายมิติ รองรับเมื่อรัฐบาลเปิดประเทศอย่างเป็นทางการเต็มรูปแบบ ส่วนตัวยังเชื่อว่าการท่องเที่ยวทางน้ำจะเป็นส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย
       
“เราจะพบว่าหลายแหล่งท่องเที่ยวในขณะนี้ได้เตรียมความพร้อมรองรับไว้แล้ว เช่น โซนริมแม่น้ำเจ้าพระยาในกรุงเทพฯ ชั้นใน ซึ่งจุดนี้สามารถเชื่อมโยงไปยังจุดท่องเที่ยวได้หลายแห่ง อีกทั้งผู้ประกอบการก็เตรียมความพร้อมไว้แล้ว ภาคเอกชนตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะเข้าไปให้การสนับสนุนต่อยอดได้ในขณะนี้เพื่อเตรียมความพร้อมไว้อย่างเต็มที่ก่อนนั่นเอง”

มีแนวคิดพัฒนาผืนแผ่นดินคลองเตยอย่างไรบ้าง
       
ผู้อำนวยการ กทท. ยังกล่าวถึงแผนธุรกิจด้านการพัฒนาพื้นที่ของ กทท. อีกว่า จะขอพิจารณารายละเอียดเชิงลึกของแต่ละพื้นที่ก่อนว่าผลการศึกษาที่มีอยู่จะสามารถดำเนินการสอดคล้องกับปัจจุบันได้อย่างไรบ้าง แปลงไหนจะต้องจัดสรรอย่างไรต่อไป เช่น แผนการพัฒนาที่อยู่อาศัย แผนสมาร์ทคอมมูนิตี้ แผนฮับโลจิสติกส์ ดังนั้นพื้นที่หลายแปลงในขณะนี้จึงยังไม่ได้ให้มีการเช่าในระยะยาว

โดยพื้นที่เดิมที่มีศักยภาพก็ควรต้องเดินหน้าตามแผนพัฒนาต่อไป อาจต้องพิจารณารายละเอียดหรือรีวิวแผนใหม่บ้าง เพื่อให้การบริหารสินทรัพย์ของ กทท. เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เช่นเดียวกับการเร่งผลักดันโครงการคอมมูนิตี้ในย่านคลองเตยที่ต้องการให้แล้วเสร็จและเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อ กทท. และชุมชนโดยรอบ ตามแนวนโยบายของกระทรวงคมนาคม ซึ่งแต่ละเรื่องต้องจัดทำรายละเอียดให้ชัดเจน โดยเฉพาะการเร่งทำความเข้าใจในพื้นที่ให้ประชาชนเข้าใจมากขึ้น เช่น กรณีที่อยู่อาศัย ซึ่ง กทท. ไม่ต้องการให้ชาวชุมชนทุกรายย้ายออกไปจากพื้นที่ เพียงแต่ปรับรูปแบบการพัฒนาจากแนวราบไปอยู่แนวสูง เชื่อว่าหลายคนอยู่ในพื้นที่มานานจึงไม่อยากปรับเปลี่ยนรูปแบบ แต่ในอนาคตอันใกล้คงต้องใช้เวลาในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

“เบื้องต้นคงต้องเร่งผลักดันเรื่องการจัดโซนนิ่งให้ชัดเจน สามารถใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด บริเวณใดที่สามารถดำเนินการได้ก็ทำไปก่อน อุปสรรคปัญหาอยู่ตรงไหนต้องแก้ไขอย่างไร มีข้อจำกัดอะไรบ้าง ก่อนที่จะเร่งพัฒนาให้เป็นแลนด์มาร์คสำคัญต่อการยกระดับการพัฒนาพื้นที่ให้ชุมชนอยู่กับ กทท. เคียงคู่การพัฒนาร่วมกันไป”

ผู้อำนวยการ กทท. กล่าวต่อไปอีกว่า โครงการพัฒนาสมาร์ทคอมมูนิตี้ ด้านที่อยู่อาศัยจะขอทบทวนข้อมูลให้เป็นปัจจุบันก่อนจะเร่งขับเคลื่อนให้สำเร็จตามแผนต่อไป โดยความตั้งใจจริงอยากจะปรับผืนแผ่นดินคลองเตยให้เกิดประสิทธิภาพ สร้างความเป็นอยู่ให้ทุกคน ทุกครอบครัวดีขึ้น มุ่งเน้นการใช้พื้นที่ที่หลายคนได้เคยอยู่อาศัยมานานให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน และต่อประเทศชาติให้มากที่สุด หากศึกษาแล้วเห็นว่าควรใช้มาตรการใดเข้าไปเร่งดำเนินการได้ก็จะเดินหน้าต่อไปทันที แต่จะร่วมขับเคลื่อนกับหน่วยที่เกี่ยวข้อง บูรณาการร่วมกันพัฒนาไปพร้อมกับการสร้างอาชีพเกิดประโยชน์ต่อทุกคนในชุมชน”

เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมขับเคลื่อนชุมชนอย่างไร
       
ทั้งนี้ แนวทางบูรณาการความร่วมมือถือว่าเป็นแนวทางการขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล ในฐานะที่ กทท. เป็นเจ้าของพื้นที่จึงจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมให้มากที่สุด ให้สามารถพัฒนาที่ดินแปลงต่าง ๆ ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ แล้วยังสามารถพัฒนาอีกหลายพื้นที่ให้เป็นแลนด์มาร์ค ให้เป็นฮับในด้านต่าง ๆ เรียกว่าเป็นการยกระดับชุมชนแออัดให้เป็นชุมชนที่มีการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้มีรายได้ที่ดี ซึ่งเป็นอีกโครงการหนึ่งที่ กทท. ยุคนี้ให้ความสำคัญในระดับต้น ๆ ของนโยบาย
       
ประการสำคัญการพัฒนาที่อยู่อาศัยแนวราบจะไม่สามารถควบคุมและบริหารจัดการได้อย่างดีพอในหลาย ๆ ส่วน อาทิ เรื่องการบำบัดน้ำเสีย การจัดการขยะ และความปลอดภัย หากเป็นที่อยู่อาศัยแนวสูงจะสามารถวางแผนได้ดีกว่า จึงต้องรีวิวพร้อมดูขอบข่ายดำเนินการให้สอดคล้อง จัดลำดับความสำคัญก่อน-หลัง พร้อมกับเชิญชวนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรุงเทพมหานคร องค์กรด้านพัฒนาชุมชนต่าง ๆ เข้ามาร่วมกัน น่าจะผลักดันให้การพัฒนาโครงการเกิดขึ้นจริงได้รวดเร็วขึ้น
       
“ยังเน้นการพัฒนาพื้นที่เพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของ กทท. ที่จะยกระดับเศรษฐกิจของประเทศเป็นหลัก มีบ้างที่มีเรื่องการกีฬาเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่นเดียวกับการก่อสร้างสนามกีฬาฟุตซอลในพื้นที่อาคาร PAT ARENA ใกล้กับอาคารสำนักงานใหญ่ กทท.  ส่วนที่ดินแปลงใดพร้อมจะพัฒนาให้เป็นรูปแบบไหน เพื่อให้ใช้พื้นที่ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งต่อองค์กรและพื้นที่โดยรอบจะเดินหน้าต่อไป”