AMR ลุยศึกษา-ต่อยอด ใช้ระบบรถไฟ ‘ไฮโดรเจน’

AMR รุกแผนขับเคลื่อนธุรกิจ B2B รถมอเตอร์ไซค์ใช้ระบบพลังงานไฟฟ้า MaCharge พร้อมโชว์ศักยภาพมืออาชีพระบบรางของไทย ยกระดับสู่นานาชาติ เดินหน้าศึกษา-ต่อยอด ‘ผลิตรถจักรใช้ระบบพลังงานไฮโดรเจน (Hydrogen Train)’ หวังพลิกโฉมระบบรางของไทยให้เป็นอีกหนึ่งทางเลือก

นายมารุต ศิริโก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอเอ็มอาร์ เอเซีย จำกัด (มหาชน) หรือ AMR เปิดเผยกับ www.thaimotnews.com ว่ายังคงให้ความสำคัญต่อการรุกตลาดตู้สับเปลี่ยนแบตเตอรี่มาชาร์จ (MaCharge) อย่างต่อเนื่อง ขณะนี้แผนผลักดันธุรกิจเห็นภาพชัดเจนแล้วว่าจะรุกรูปแบบ B2B ในกลุ่มไรเดอร์ต่างๆเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนเป็นรูปธรรมจริงๆทั้งเรื่องรถ แบตเตอรี่ เครื่องสวอปปิ้งแบต ซอฟต์แวร์ตลอดจนบริการหลังการขาย

ประการสำคัญอาชีพไรเดอร์จะต้องการเวลาที่รวดเร็วจึงคงไม่สามารถรอกรณีการชาร์จไฟได้นานๆ ต้องการระบบสลับแบตที่มีคุณภาพ มีบริการหลังการขายที่ดี ศักยภาพหรือประสิทธิภาพรถที่ใช้งานมีคุณภาพจริง สะดวกสบายในการใช้งาน ยิ่งเป็นวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างยิ่งตอบโจทย์ด้านงานบริการผู้โดยสาร ซึ่ง AMR คิดแบบครบวงจรจริงๆ เพราะรถที่ให้บริการสามารถลุยน้ำท่วมได้สูงราว 30 เซนติเมตรได้สำเร็จมาแล้ว

เดินหน้าเร่งหารือวินจยย.รับจ้างทั่วกรุง

นายมารุตกล่าวว่า มั่นใจว่าโมเดลธุรกิจขณะนี้ชัดเจนแล้ว ดังนั้นครึ่งปีแรกนี้มีความมั่นใจว่าก้าวมาถูกทาง ปัจจุบันสามารถให้บริการแล้วเกือบ 100 คัน มีให้เห็นผลงานแล้วจุดวินจักรยานยนต์รับจ้างแถวรามคำแหง อีกทั้งยังอยู่ระหว่างการเจรจากับวินจักรยานยนต์รับจ้างอื่นๆอีกหลายรายในเขตกรุงเทพฯ นอกจากนั้นยังเตรียมเสนอกรุงเทพมหานครที่จะเป็นผู้ให้ความเห็นและส่งเสริมนั้นเพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้ประกอบการที่สนใจ ซึ่งรถจักรยานยนต์ที่ AMR เลือกนำมาใช้งานนอกจากประหยัดพลังงานแล้วยังสมบุกสมบันด้านการลุยน้ำท่วมสูงระดับ 30-40 เซนติเมตรได้สบายๆ จึงตอบโจทย์ความต้องการและสามารถแก้ไขปัญหาได้แทบทุกมิติจริงๆ

ประการสำคัญยังเตรียมความพร้อมด้านไฟแนนซ์ให้กับวินจักรยานยนต์รับจ้างเพื่อสร้างโอกาสให้กับผู้ที่ไม่มีความพร้อม 100% ซึ่งผู้ที่ให้ไฟแนนซ์กับวินต่างๆล้วนต้องคุ้นเคยกับวินนั้นจริงๆ เพื่อแสดงความมั่นใจให้วินนั้นๆสามารถผ่อนรถเดือนละประมาณ 6,000 บาทอย่างมั่นใจ วินไหนสนใจ AMR ยินดีให้คำแนะนำอย่างยิ่ง

“แต่ละรายจะมีวิธีการบริหารจัดการเรื่องไฟแนนซ์หลากหลาย ซึ่ง AMR มีพาร์ทเนอร์ให้บริการไฟแนนซ์กับวินต่างๆ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่แต่ละวินสนใจและยอมรับได้ว่าไม่เบี้ยวในภายหลัง”

รุกหัวเมืองหลักผ่านกลุ่มบริษัทพัฒนาเมือง

นายมารุตกล่าวต่อว่า สำหรับแผนการขับเคลื่อนธุรกิจในครึ่งปี 2565 นี้ยังเดินหน้าตามโมเดลที่จัดทำไว้แล้วให้ลูกค้าเพิ่มมากขึ้นขยายธุรกิจสู่วงกว้างมากขึ้น เน้นรูปแบบธุรกิจ B2B ที่ซื้อรถจักรยานยนต์จำนวนมากไปใช้งานในองค์กรนั้นๆอาทิ ไรเดอร์ต่างๆ หรือไปรษณีย์ไทย เป็นต้น เช่นเดียวกับการรุกหัวเมืองหลักต่างๆผ่านกลุ่มบริษัทพัฒนาเมืองต่างๆ อาทิ ภูเก็ต เชียงใหม่ อุดรธานี นครสวรรค์

เผยภาพรวมของ AMR

แม้จะเจอวิกฤติเศรษฐกิจสำหรับการเริ่มต้นในตลาดหลักทรัพย์แต่ ณ วันนี้ยังสามารถฟันฝ่าได้อย่างรอบคอบ มั่นใจเพราะยังได้งานโครงการขนาดใหญ่ที่ทำสัญญากับภาครัฐไว้หลายโครงการ หากการเมืองนิ่งและเศรษฐกิจโลกไม่มีปัญหาก็จะสามารถเข้าสู่ภาวะปกติได้รวดเร็วขึ้น ส่วนปี 2566 นั้นทิศทางธุรกิจยังให้ความสำคัญด้านไอทีเทคโนโลยีที่เป็นความถนัดของ AMR ยังคงเดินหน้าต่อ อีกด้านคือเรื่องพลังงานที่เห็นชัดเจนแล้วในโครงการต่างๆที่จะเกิดขึ้นในปี 2566 อาทิ โซล่าลุฟที่แนวโน้มดีต่อเนื่อง เมื่อลงมือแล้วจะเดินหน้าขยายพื้นที่โครงการต่อทันที

โดยในปีหน้าคงจะได้เห็นภาพการเติบโตด้านเทคโนโลยีรวมถึงคำว่าทรานสปอร์ต โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่เป็นโครงการ อาทิ MaCharge ต่อมาเป็นเรื่องพลังงานทางเลือกและระบบสาธารณูปโภคจะเกิดการลงนามสัญญาดำเนินการก่อให้เกิดรายได้ให้บริษัทอย่างยั่งยืน

“ส่วนปีนี้ยังพอใจในผลประกอบการที่ทยอยรับรู้อย่างต่อเนื่องเนื่องจากบางโครงการยังใช้ระยะเวลาในการเติบโตจนรับรู้รายได้หากเกิดเป็นโครงการขนาดใหญ่ และบางโครงการอาจต้องใช้ระยะเวลาออกแบบติดตั้งจึงส่งผลให้การรับรู้รายได้ล่าช้าไปบ้าง”

นายมารุตยังกล่าวถึงปี 2566 อีกว่า ปีหน้ายังมีวิกฤติเศรษฐกิจโลกตามมาอีกแน่ ยังติดตามว่าผลกระทบอาจทำให้เศรษฐกิจโลกด้อยลงกว่าปัจจุบันนี้ การเมืองภายในประเทศยังไม่นิ่ง โซนยุโรป อเมริกายังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดนั่นคือปัจจัยลบอีกมีอยู่มาก แต่ AMR ก้าวอย่างยั่งยืนรอบคอบจึงต้องยืนในจุดที่เหมาะสม ณ วันนี้ตลาดทุนยังมีเงินทุนสำรองในการนำไปลงทุน AMR ยังมีเครดิตมากพอหลังจากเข้าตลาดทุน โครงการระดับหมื่นล้านบาทยังทำได้ ดังนั้นปัจจุบันในภาวะที่รายอื่นทำโครงการขนาดใหญ่ไม่ได้แต่ AMR พร้อมเข้าไปดำเนินการ มีแหล่งเงินทุนพร้อมสนับสนุนได้ทันที อีกทั้งยังคุยกับจีน เกาหลี ญี่ปุ่น และยุโรปเพื่อดึงเทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนต่อกัน

นอกจากนั้นในปลายปีนี้และต่อยอดปี 2566 บริษัทมีแผนศึกษาและต่อยอดการผลิตรถจักรใช้พลังงานระบบไฮโดรเจนเพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกใช้งานด้านระบบรางในประเทศไทยโดยจะศึกษาเรื่องเทคโนโลยี ต้นทุน ระบบที่เหมาะสม อัตราค่าโดยสาร ความปลอดภัย การดูแลบำรุงรักษา เพราะเชื่อมั่นว่าพลังงานไฮโดรเจนจะเข้ามามีบทบาทต่อภาคการขนส่งมากขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้

โดยจะต้องหาเทคโนโลยีเข้ามาบริหารจัดการที่เหมาะสม และคิดว่าระบบพลังงานไฮโดรเจนมีความเหมาะสมกับการนำไปใช้ด้านระบบการเดินทาง หรือเรื่องที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการความร้อน จุดที่ใช้ให้บริการระหว่างเมืองจะมีความเหมาะสมมากที่สุด มีจุดเติมทุก 100 กม. ใช้เวลาเติมเพียง 15 นาที จึงเป็นเทคโนโลยีระบบรางที่ระบบพลังงานไฮโดรเจนเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในอนาคต หัวรถจักรพลังงานไฮโดรเจนมีการผลิตสำเร็จและใช้งานแล้วในปัจจุบัน จึงไม่ใช่เรื่องใหม่หากจะนำมาให้บริการในประเทศไทยโดยคนไทยเป็นผู้ผลิตเองทั้งระบบ

“AMR ยังเป็นผู้เชี่ยวชาญในการออกแบบระบบให้โครงการรถไฟฟ้าหลายเส้นทาง จึงมีแนวคิดผลักดันให้เกิดรถไฟฟ้าสายสั้นๆเป็นฟีดเดอร์เชื่อมโยง ดังนั้นหากสามารถออกแบบแล้วเทรินคีย์ต่อกันได้น่าจะเกิดประโยชน์กับหลายฝ่าย โดยกว่า 80-90% AMR สามารถรับดำเนินการได้ และหากรัฐคุมไม่ดีโครงการเหล่านี้ก็จะเป็นภาระของประชาชนได้เหมือนกันในเชิงของราคา จึงต้องสมดุลระหว่างเงินลงทุน ภาระที่ใช้เพราะสุดท้ายคือต้นทุนของโครงการนั่นเอง AMR จึงได้เปรียบเรื่องมีต้นทุนที่ถูกกว่าจ้างต่างประเทศมาดำเนินการ”