ลุ้นครม.ไฟเขียวปรับไม่เกิน 4 พัน กรณีไม่จอดให้คนข้ามทางม้าลาย
สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ร่วมกับกรมการขนส่งทางบก และภาคีเครือข่ายยกระดับความปลอดภัยทางม้าลาย จัดกิจกรรมรณรงค์หยุดรถให้คนข้ามถนนบริเวณทางม้าลาย พร้อมมอบสติ๊กเกอร์รณรงค์ให้เครือข่ายรถโดยสารสาธารณะ เชิญชวนทุกภาคส่วนร่วมกันทำให้ทางม้าลายเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน ผู้ตรวจการแผ่นดินเผยเร่งเสนอครม.กรณีเพิ่มบทลงโทษกรณีไม่หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย ปรับสูงสุดไม่เกิน 4 พันบาท
เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2566 เวลา 10.30 น. ณ กรมการขนส่งทางบก นายทรงศัก สายเชื้อ ผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดกิจกรรมรณรงค์หยุดรถให้คนข้ามถนนบริเวณทางม้าลาย พร้อมด้วยคณะที่ปรึกษาผู้ตรวจการแผ่นดิน นายวทัญญู ทิพยมณฑา และนางสาวคมขวัญ กาญจนกุญชร รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินร่วมกิจกรรม โดยมีนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก, นางสิริรัตน์ วีรวิศาล, นายเสกสม อัครพันธุ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก และคณะผู้บริหาร ให้การต้อนรับ
ในโอกาสนี้คณะได้ร่วมกันมอบสติ๊กเกอร์รณรงค์ให้เครือข่ายรถโดยสารสาธารณะ ประกอบด้วย ผู้ขับรถแท็กซี่ รถจักรยานยนต์รับจ้าง ผู้ให้บริการขนส่งอาหารและพัสดุ (ไรเดอร์) ผู้แทนองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท พร้อมด้วยภาคีเครือข่ายความปลอดภัยทางถนนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมรณรงค์สร้างความตระหนักเพื่อทำให้ทางม้าลายเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน
นายทรงศัก สายเชื้อ ผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาเชิงระบบเกี่ยวกับความปลอดภัยในการข้ามถนนบนทางม้าลาย โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 32 แห่ง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560 เพื่อนำปัญหาอุบัติเหตุจากการใช้ทางม้าลายมาพิจารณาเพื่อศึกษาและแก้ปัญหาเชิงระบบ โดยแบ่งเป็น 3 ด้าน คือ ด้านการแก้ไขกฎหมาย ด้านการปรับปรุงทางกายภาพ และด้านการรณรงค์สร้างจิตสำนึก “ขับรถระวังคน ข้ามถนนระวังรถ” และการสร้างเครือข่าย
สำหรับการรณรงค์ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์สำคัญ 3 ประการ คือ ประการแรก เพื่อสร้างความปลอดภัย ลดความสูญเสียจากชีวิตทรัพย์สิน โดยพบว่ามีคนเสียชีวิตประมาณ 400 คน เฉลี่ยวันละมากกว่าหนึ่งคน ดังนั้นความปลอดภัยจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะยอมให้เกิดความสูญเสียต่อไปไม่ได้ ประการที่ 2 การสร้างค่านิยมให้เคารพกฎระเบียบของสังคม ต่อไปนี้ขอให้รถยนต์และยานพาหนะทุกชนิดหยุดรถให้คนข้ามทางม้าลายเมื่อเห็นว่าขับขี่ถึงทางม้าลายและกำลังมีคนรอข้ามทางม้าลาย ส่วนผู้ใช้ถนนต้องข้ามถนนตรงทางม้าลาย สะพานลอย หรือทางข้ามที่กำหนดไว้ ประการที่ 3 เรื่องสำคัญ คือ การบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่และวินัยจราจรของประชาชนทุกคน การร่วมมืออย่างเข้มงวดจะทำให้สังคมดี มีวัฒนธรรมความปลอดภัยที่ดี
“ขณะนี้ได้ประสานงานแบบบูรณาการกับหลายหน่วยงาน และกำลังทำหนังสือยื่นเสนอคณะรัฐมนตรีในประเด็นเพิ่มเติมจากที่กรมการขนส่งทางบกและอีกหลายหน่วยงานเสนอไปก่อนนี้ อาทิ ให้รถต้องหยุดตรงทางม้าลาย และให้มีบทลงโทษตามขั้นบันใดตามความเร็วของรถพร้อมกำหนดความเร็ว 30 กม./ชม. ซึ่งเบื้องต้นมีบทลงโทษปรับไม่เกิน 4,000 บาทพร้อมตัดคะแนนความประพฤติ เช่นเดียวกับเรื่องกายภาพซึ่งหลายหน่วยอยู่ระหว่างการจัดทำแผนดำเนินการและใช้งบประมาณไปดำเนินการในปี 2566-2567 นี้จึงอยากขอความร่วมมือทางสภาผู้แทนราษฏรและวุฒิสภาตลอดจนหน่วยงานเกี่ยวข้องเร่งผลักดันกฎหมายดังกล่าวนี้”
ด้านนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า อุบัติเหตุทางถนนถือเป็นปัญหาสำคัญที่ก่อให้เกิดความสูญเสียแก่ชีวิตและส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ และส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศ โดยในแต่ละปีมีจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนจำนวนมาก และจำนวนหนึ่งเกิดจากอุบัติเหตุบริเวณทางข้าม
ดังนั้นด้วยความสำคัญของปัญหานี้ กรมการขนส่งทางบกมิได้นิ่งนอนใจ ได้ดำเนินโครงการและกิจกรรมด้านความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนมาอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนนในทุกมิติ เช่น การยกระดับการเรียนรู้และทักษะการขับรถ, โครงการนักเรียนรุ่นใหม่มีใบขับขี่, รณรงค์มาตรการองค์กรด้านความปลอดภัยทางถนน เพื่อให้บุคลากรของกรมการขนส่งทางบกทุกคนเป็นแบบอย่างที่ดีในการปฏิบัติตามกฎจราจรและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการใช้รถใช้ถนนอย่างเคร่งครัด ซึ่งจะมีการสอดแทรกประเด็นส่งเสริมความปลอดภัยบริเวณทางม้าลายไว้ด้วย
นอกจากนั้นยังมีโครงการศึกษาเพื่อกำหนดแนวทางการจัดทำและการใช้ทางข้ามถนนปลอดภัย ซึ่งจะมีการวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้รถใช้ถนนของผู้ข้ามทางม้าลายและผู้ขับขี่ การออกแบบ รวมไปถึงกฎหมายสำหรับการควบคุมพฤติกรรมเพื่อให้ทางม้าลายหรือทางข้ามเป็นพื้นที่ปลอดภัยทั้งต่อผู้ข้ามทางม้าลายและผู้ขับขี่ นอกจากนี้ กรมการขนส่งทางบกได้มีการจัดทำสื่ออินโฟกราฟิกเพื่อกระตุ้นการรับรู้ประเด็นความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนในโซเชียลมีเดียอย่างต่อเนื่อง โดยเผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊ก ขับขี่ปลอดภัย by DLT หรือ www.ขับขี่ปลอดภัย.com ซึ่งหน่วยงานต่างๆสามารถนำสื่อดังกล่าวไปเผยแพร่ต่อเพื่อขยายการรับรู้เป็นวงกว้างได้อีกด้วย
ภาพรวมกรณีตัดแต้มเฉพาะรถสาธารณะ ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปลายปี 2564 ทั้งตัดแต้ม เพิกถอนใบอนุญาตขับรถ เพื่อป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ ส่วนตามพ.ร.บ.จราจรนั้นทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2566 เริ่มมีผู้ขับขี่โดนตัดแต้มไปบ้างแล้วทั้งนี้เพื่อควบคุมพฤติกรรมการขับขี่รถตามกฏหมายจราจร เมื่อถูกตัดแต้มเกินกึ่งหนึ่งแล้ว แต้มหมดแล้ว ทางสตช.จะมีคำสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับรถทันที หากประชาชนถูกตัดแต้มเกินกึ่งหนึ่งยังมีสิทธิ์ขอแต้มคืนได้โดยการเข้ารับการอบรมจากกรมการขนส่งทางบกด้วยการฟื้นฟูพฤติกรรมการขับรถให้ระมัดระวังข้อกฏหมายอย่างปลอดภัย พร้อมกันนี้ยังมีการแยกข้อเสนอแยกประเภทรถจักรยานยนต์ อาทิ บิ๊กไบค์ หรือขนาดเกิน 400 CC ไว้อย่างชัดเจนอีกด้วย
“กรมการขนส่งทางบกมีความมุ่งหวังว่ากิจกรรมรณรงค์หยุดรถให้คนข้ามถนนบริเวณทางม้าลายในครั้งนี้ จะช่วยสร้างจิตสำนึก “ขับรถระวังคน ข้ามถนนระวังรถ” อีกทั้งผู้ขับขี่ต้องตระหนักถึงความสูญเสียที่จะเกิดขึ้น เพื่อร่วมกันสร้างมาตรฐานความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนของประเทศไทยนั่นเอง”