กพท. ร่วมกับ ICAO มุ่งลดคาร์บอนด้านการบิน

กพท. ร่วมกับ ICAO มุ่งลดคาร์บอนด้านการบิน จัดสัมมนาสิ่งแวดล้อมด้านการบินในระดับภูมิภาคมุ่งลดคาร์บอนตามเป้าหมายในปี 2050 และสนับสนุนการพัฒนาพลังงานสะอาดสำหรับอุตสาหกรรมการบินและการพัฒนาขีดความแก่รัฐสมาชิกในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก พร้อมนำผลลัพธ์ที่ได้เข้าร่วมหารือในการประชุม ICAO ช่วงปลายปีนี้
 
เมื่อวันที่ 3 พ.ค. 66 ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ บางกอก คอนเวนชัน เซ็นเตอร์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานเปิดงานสัมมนา 2023 ICAO Environmental Regional Seminar for the APAC Region โดยมี Ms. Jane Hupe, ICAO Deputy Director Air Transport Bureau และ Mr. Tao Ma, ICAO Regional Director, Asia and Pacific Regional และนายสุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ร่วมสัมมนา

นายชยธรรม์ กล่าวว่า ตามนโยบายของรัฐบาลที่ส่งเสริมให้กิจการเดินทางในรูปแบบต่างๆ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศ เพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อมและภาวะเรือนกระจก ที่นับวันจะทวีความรุนแรงขึ้น สำหรับกระทรวงคมนาคมก็ได้มีการส่งเสริมให้อุตสาหกรรมการบินดำเนินกิจกรรมด้านการบินโดยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศ โดยมีมาตรการต่างๆ ที่รองรับผู้ประกอบการด้วย การสัมมนาในครั้งนี้ จึงเป็นการเดินหน้าแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจังของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่สภาพแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชนที่ดีขึ้น

“เน้นทางด้านเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก เพื่อให้สมาชิกของ ICAO ตระหนักและให้ความสำคัญสิ่งแวดล้อมจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซต์ออกมาจากกิจการการบินซึ่งเรื่องนี้ยังเป็นนโยบายของทางรัฐบาลให้ความสำคัญ โดยเรื่องกรีนทรานสปอร์ตกระทรวงคมนาคมดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ครั้งนี้เรา สดงเจตนาว่ามีความตั้งใจจริงที่จะขับเคลื่อนเรื่องสิ่งแวดล้อมด้านการบินนั่นเอง โดยรับเสนอเป็นเจ้าภาพจัดให้ ICAO จัดสัมมนา 2 วันมีสมาชิกราว 200 คนมาร่วมสัมมนา คาดว่าจะเกิดการแชร์ประสบการณ์ร่วมกันและนำผลลัพธ์ที่ได้เตรียมเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ICAO ปลายปีนี้ต่อไป“

นายสุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การสัมมนาในครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่างองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization: ICAO) กับสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (The Civil Aviation Authority of Thailand: CAAT) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือและความรู้ความเข้าใจระหว่างกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ในการดำเนินการตามแนวทางลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตามเป้าหมาย Long Term Aspirational Goal (LTAG) ที่ได้มีการรับรองในที่ประชุมสมัชชา ICAO ครั้งที่ 41 เมื่อเดือนตุลาคม 2565

โดยครั้งนี้มีผู้แทนหน่วยงานภาครัฐระดับสูงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของประเทศต่างๆ ในกลุ่มเอเชียแปซิฟิกเข้าร่วมกว่า 200 คน ซึ่งหัวข้อหลักในการสัมมนาครั้งนี้เกี่ยวข้องกับเชื้อเพลิงการบินแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuels: SAF) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ภาคการบินระหว่างประเทศสามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้  

ทั้งนี้เนื้อหาของการสัมมนาครอบคลุมเรื่องนโยบายสนับสนุนการพัฒนาพลังงานสะอาดสำหรับอุตสาหกรรมการบิน การให้ความช่วยเหลือและพัฒนาขีดความสามารถแก่รัฐสมาชิกในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงแนวทางการระดมทุนและยังเป็นโอกาสในการแลกเปลี่ยนความเห็นในเรื่องดังกล่าวด้วย ซึ่งจะได้มีการนำประเด็นจากการหารือและผลลัพธ์ที่ได้เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการประชุม ICAO ว่าด้วยการบินและเชื้อเพลิงทางเลือก (The Third ICAO Conference on Aviation and Alternative Fuels: CAAF/3) ที่จะมีขึ้นในปลายปี 2566 ต่อไป

สำหรับงานสัมมนา 2023 ICAO Environmental Regional Seminar for the APAC Region จัดขึ้นเป็นเวลา 2 วัน คือวันที่ 3-4 พ.ค. 66 โดยวานนี้ (2 พ.ค. 66) สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยได้จัดกิจกรรมพาคณะผู้เข้าร่วมสัมมนาลงพื้นที่ เยี่ยมชมงานที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ซึ่งเป็นผู้นำด้านการวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยี และจากนั้นจึงลงพื้นที่ บมจ. บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ (BAFS) ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจทางด้านการบริหารการจัดเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน และให้บริการเติมน้ำมันเชื้อเพลิงแก่อากาศยาน

โดยช่วงที่ผ่านมา สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในกิจการด้านการบินของประเทศไทยมาตลอด โดยประเทศไทยได้เข้าร่วมโครงการ Carbon Offsetting and Reduction Scheme for International Aviation (CORSIA) ขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ตั้งแต่ระยะ Pilot Phase หรือ ปี 2564 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นการสนับสนุนให้บรรลุเป้าหมายการรักษาระดับปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิของภาคการบินพลเรือนระหว่างประเทศไม่ให้เกินกว่าระดับปริมาณสุทธิของปี 2563 โดยใช้กลไกการชดเชยและการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และได้มีการออกข้อบังคับว่าด้วยการตรวจวัดและการรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในกิจการการบิน ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 ก.พ.2565 โดยกำหนดให้ผู้ได้รับใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศจัดทำรายงานข้อมูลปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้ ตลอดจนสถิติการจราจรทางอากาศในรอบปี รายงานต่อสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยตามรูปแบบและรายการที่กำหนด ซึ่งมั่นใจว่าประเทศไทยจะสามารถก้าวสู่การเป็นผู้นำในการส่งเสริมให้มีการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในกิจการด้านการบินได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไปในอนาคต

“ระยะเวลาดำเนินการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นสูญ 20 ปีดูเหมือนจะนาน แต่ไม่นานเกินไปจึงเรื่มขับเคลื่อนตั้งแต่บัดนี้ ประการสำคัญพบว่ามีปริมาณเที่ยวบินเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นความท้าทายที่จะลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกลงได้เรื่อยๆ ขณะนี้ยังไม่มีแผนดำเนินการให้ได้ตามเป้ารายปีอยู่ระหว่างการจัดทำ เมื่อถึงจุดหนึ่งคงต้องมีแผนดำเนินการระดับภูมิภาค และระดับประเทศต่อไปเนื่องจากมีกระบวนการขั้นตอนดำเนินการหลายอย่างนั่นเอง โดยเฉพาะเรื่องน้ำมัน เรื่องมาตรการจ่ายค่าชดเชย ยังไม่ได้ลงรายละเอียดเชิงลึก”