ขร.เร่งเคลียร์พื้นที่ทับซ้อน กรณีสร้างทางขึ้น-ลงสายสีชมพู
กรมการขนส่งทางราง ติดตามการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู เพื่อเร่งการเปิดบริการให้ประชาชนเดินทางได้สะดวกมากยิ่งขึ้น เจอตอ!!!พื้นที่ทับซ้อนกรณีก่อสร้างทางขึ้น-ลงช่วงสถานีแจ้งวัฒนะ 14 (PK11) ถึงสถานีโทรคมนาคมแห่งชาติ (PK13) ฝั่งขาออกมุ่งหน้าแยกแครายได้
เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 66 นายอธิภู จิตรานุเคราะห์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กรมการขนส่งทางราง ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการก่อสร้าง พร้อมรับฟังปัญหาอุปสรรคในการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี และส่วนต่อขยายช่วงสถานีศรีรัช – เมืองทองธานี เพื่อรวบรวมและหารือแนวทางแก้ไข ให้สามารถเปิดให้บริการได้โดยเร็ว
นายอธิภูฯ กล่าวว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้เป็นการติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างและการเตรียมความพร้อมการเปิดให้บริการ พบว่า ช่วงสถานีแจ้งวัฒนะ 14 (PK11) ถึงสถานีโทรคมนาคมแห่งชาติ (PK13) ไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างทางขึ้น-ลง (ฝั่งขาออกมุ่งหน้าแยกแคราย) ได้ เนื่องจากติดปัญหาพื้นที่ทับซ้อนกับโครงการของหน่วยงานอื่น ทำให้การก่อสร้างล่าช้า ซึ่งกรมการขนส่งทางรางได้มีข้อเสนอในการเปิดให้บริการบางส่วนก่อน เช่น จากสถานีหลักสี่ ถึงสถานีมีนบุรี เพื่อเป็น Feeder ให้กับรถไฟฟ้าสายสีเขียว และรถไฟชานเมืองสายสีแดง รวมถึงบรรเทาปัญหาจราจรแออัด อย่างไรก็ตาม รฟม. ต้องประเมินความเป็นไปได้ทั้งด้านเทคนิค ด้านความปลอดภัย และข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวก ปลอดภัยในการเดินทาง
นายอธิภูฯ กล่าวต่อว่า ได้ติดตามการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช ถึงเมืองทองธานี ระยะทาง 3.2 กิโลเมตร จำนวน 2 สถานี ได้แก่ สถานีอิมแพคเมืองทองธานี (MT01) ตั้งอยู่บริเวณวงเวียนอิมแพคฯ และสถานีทะเลสาบเมืองทองธานี (MT02) ตั้งอยู่บริเวณข้างทะเลสาบเมืองทองธานี ใกล้ธันเดอร์โดม เมื่อโครงการฯ แล้วเสร็จ เชื่อว่าจะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในการเดินทางมาเที่ยวชมงานแสดงหรือการแข่งขันกีฬาที่จัดขึ้น และช่วยลดปริมาณการจราจรบนท้องถนนบริเวณนี้ได้อย่างมาก
นายอธิภูฯ กล่าวตอนท้ายว่า ปัจจุบันโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูมีความคืบหน้า ณ เม.ย. 66 กว่า 96.43% ในเส้นทางหลัก และ 20.41 % ในช่วงส่วนต่อขยาย โดยกรมการขนส่งทางราง จะเร่งผลักดันให้เปิดให้บริการได้โดยเร็ว อย่างน้อยในเส้นทางหลัก เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชนที่ต้องการเดินทางมาติดต่อราชการหรือธุระต่าง ๆ ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้า เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่าถนนแจ้งวัฒนะ ไปจนถึงถนนรามอินทรา ถือเป็นถนนที่มีการจราจรติดขัดสูงเป็นลำดับต้น ๆ ของถนนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู รวมถึงรถไฟฟ้าสายสีต่าง ๆ ที่เปิดให้บริการแล้ว กำลังจะเปิดให้บริการ หรือกำลังก่อสร้างอยู่นั้น จะมีส่วนช่วยในการลดปริมาณรถยนต์บนท้องถนน ลดการจราจรติดขัด รวมทั้งลดปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ได้