มธ. ผลักดันต้นแบบ ‘ทางข้ามอัจฉริยะ’ เร่งถอดบทเรียนก่อนออกแบบเพื่อคนทั้งมวล
มธ.ได้ต้นแบบแนวทางขับเคลื่อนโครงการ “การบูรณาการระบบ AI เพื่อพัฒนาต้นแบบทางข้ามที่ปลอดภัยเพื่อคนทั้งมวล” จ่อหารือกทม. และหน่วยเกี่ยวข้องก่อนเร่งสรุปผลพร้อมขับเคลื่อนต้นแบบโมเดลนำร่อง คาดสค.นี้แล้วเสร็จ
รศ.ดร.ภาวิณี เอี่ยมตระกูล คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ศูนย์แห่งความเป็นเลิศทางวิชาการด้านวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการขนส่งเมือง มธ. เปิดเผยว่า วันนี้ 29 มิถุนายน 2566 ได้จัดรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 3 เรื่อง “การบูรณาการระบบ AI เพื่อพัฒนาต้นแบบทางข้ามที่ปลอดภัยเพื่อคนทั้งมวล” โดยได้รับเกียรติจากรศ.ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้เกียรติเป็นประธานกล่าวเปิดงาน พร้อมให้ข้อเสนอแนะหลายประการที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาวิจัยในโครงการดังกล่าว
ส่วนการขับเคลื่อนในขณะนี้ ได้ต้นแบบทั้งการดีไซน์และต้นแบบที่จะนำไปดำเนินการ โดยทีมคณะวิจัยจะนำไปดำเนินการที่จุดมธ.ก่อนเป็นโมเดลนำร่อง ส่วนที่จะนำเสนอเพื่อการแก้ไขปัญหานั้นคงจะส่งมอบโครงการให้กรุงเทพมหานคร(กทม.) รับไปพิจารณาจัดงบดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมจริงๆต่อไป
“เบื้องต้นจะมีการหารือร่วมกันในอีกหลายประเด็น อาทิ การทาสี ตีเส้น เป็นต้นเพื่อให้เห็นว่าปลอดภัยจริงหรือไม่อย่างไร ซึ่งระบบ AI จะสามารถบอกได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ปัจจุบันโครงการสามารถทำในสิ่งต่างๆเหล่านี้ได้แล้ว โดยนำหลักวิศวกรรมจราจรบวกกับระบบ AI มาช่วยสร้างชุดตัวเลขที่สะท้อนพฤติกรรมจริงของผู้ใช้รถ ใช้ถนนทุกกลุ่ม ไม่ได้มองเฉพาะคนขับรถยังมองส่วนอื่นๆได้อีกด้วย”
ทั้งนี้ในเบื้องต้นของการเร่งนำไปใช้งานนั้นขณะนี้ยังกำหนดเวลาชัดเจนไม่ได้ คณะทำงานอยู่ระหว่างการบอเข้าหารือร่วมกับทางกทม. ก่อนที่จะได้เร่งรัด คาดว่าจะใช้ระยะเวลาไม่นานสำหรับโมเดลนำร่องในมธ. โดยหลังจากวันนี้จะเร่งสรุปผลในหลายด้านเพื่อให้ได้ชัดตัวเลขออกมาอย่างชัดเจน อาทิ งบประมาณค่าใช้จ่ายต่อการลงทุนหน่วยตร.ม.อย่างไรบ้าง เพื่อนำไปดำเนินการเเต่ละจุดต่อไป จะเห็นรูปแบบขั้นต่ำ ขั้นกลาง และขั้นสูง ทั้งอุปกรณ์ เทคโนโลยีต่างๆ ดังนั้นหากเทศบาลในแต่ละท้องถิ่นสามารถนำไปดำเนินการได้ก็จะเป็นการแก้ไขปัญหาให้ลดลงได้อีกทางหนึ่งด้วย
“คาดว่าภายในเดือนสิงหาคมนี้น่าจะได้ข้อมูลชัดเจน หลังจากนี้จะเร่งนำข้อมูลไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถใส่ตัวเลขงบประมาณปีนี้หรือปี 2567 -2568 เข้าไปดำเนินการได้ทัน อีกทั้งโครงการยังเตรียมของบประมาณการวิจัยให้ต่อเนื่องเพื่อให้มีความสมบูรณ์แบบมากที่สุด โดยรูปแบบที่วิจัยจะสามารถบอกได้เลยว่าเมื่อนำไปใช้งานจริงจะเกิดความปลอดภัยในระดับใด เกิดความน่าเชื่อถือและสามารถสะท้อนได้ว่าศักยภาพการออกแบบไปแล้วเกิดประสิทธิภาพความปลอดภัยจริงหรือไม่”