ทล.เชิญชวนเอกชนร่วมลงทุน พัฒนา-บริหารที่พักริมทางสาย M 7

กรมทางหลวง (ทล.) ประกาศเชิญชวนเอกชนผู้สนใจร่วมลงทุนที่พักริมทางบนมอเตอร์เวย์สาย 7 (M 7) เพื่ออำนวยความสะดวกผู้ใช้ทางและยกระดับการให้บริการของระบบทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสู่มาตรฐานสากล เปิดจำหน่ายเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (Request for Proposal: RFP) ของทั้ง 2 โครงการพร้อมกัน ตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม ถึง 22 กันยายน 2566 คาดเริ่มก่อสร้างปี 2567 และเปิดบริการปี 69

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยว่าวันที่ 16 สิงหาคม 2566 ได้ออกประกาศเชิญชวนโครงการร่วมลงทุนสำหรับการให้เอกชนร่วมลงทุนในการพัฒนาและบริหารจัดการที่พักริมทาง (Rest Area) บนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 สายกรุงเทพมหานคร – บ้านฉาง จำนวน 2 โครงการ ประกอบด้วยโครงการศูนย์บริการทางหลวงศรีราชา และโครงการสถานที่บริการทางหลวงบางละมุง เพื่ออำนวยความสะดวกผู้ใช้ทางและยกระดับการให้บริการของระบบทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 สู่มาตรฐานสากล

โดยจะเป็นจุดแวะพักที่ผู้เดินทางสามารถพักผ่อนอิริยาบทจากการเดินทาง ทำธุระส่วนตัว ช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุและความสูญเสียจากความเหนื่อยล้าหรือหลับในของผู้ขับขี่ ตลอดจนช่วยให้ผู้ใช้ทางประหยัดเวลาและลดค่าใช้จ่ายจากการเดินทางเข้า-ออกทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองโดยไม่จำเป็นอีกด้วย

สำหรับ โครงการศูนย์บริการทางหลวงศรีราชา เป็นที่พักริมทางขนาดใหญ่ ตั้งอยู่บริเวณ กม. 93+500 ของทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 ช่วงชลบุรี – พัทยา ระหว่างทางแยกต่างระดับบางพระ (คีรี) และทางแยกต่างระดับหนองขาม อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี แบ่งพื้นที่เป็น 2 ฝั่ง คือ ฝั่งทิศทางมุ่งหน้าออกจากกรุงเทพมหานคร และฝั่งทิศทางมุ่งหน้าเข้ากรุงเทพมหานคร มีขนาดพื้นที่ฝั่งละประมาณ 59 ไร่

ในส่วนโครงการสถานที่บริการทางหลวงบางละมุง เป็นที่พักริมทางขนาดกลางตั้งอยู่บริเวณ กม.137+100 ของทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 ช่วงพัทยา – มาบตาพุด อยู่ระหว่างทางแยกต่างระดับห้วยใหญ่ และทางแยกต่างระดับเขาชีโอน อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี แบ่งพื้นที่เป็น 2 ฝั่ง คือ ฝั่งทิศทางมุ่งหน้าออกจากกรุงเทพมหานคร และฝั่งทิศทางมุ่งหน้าเข้ากรุงเทพมหานคร มีขนาดพื้นที่ฝั่งละประมาณ 38 ไร่

โดยที่พักริมทางทั้ง 2 แห่ง จะมีสิ่งอำนวยความสะดวกภายในโครงการที่ครบครัน ประกอบด้วย ที่จอดรถ พื้นที่พักผ่อน พื้นที่สีเขียว ห้องสุขา ที่จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม ที่จำหน่ายสินค้าและบริการ สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง สถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ศูนย์บริการข้อมูลจราจรและเส้นทางการเดินทาง และการบริการอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้เดินทาง

สำหรับการดำเนินงานโครงการฯ จะเป็นการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (Public Private Partnership: PPP) ในรูปแบบ PPP Net Cost โดยกรมทางหลวงจะส่งมอบพื้นที่โครงการฯ ให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างที่พักริมทางและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ รวมถึงมีหน้าที่บริหารจัดการและดูแลบำรุงรักษาโครงการฯ ตลอดจนเป็นผู้มีสิทธิ์ในการบริหารจัดการเชิงพาณิชย์และเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรายได้ของโครงการฯ โดยต้องชำระค่าตอบแทนให้กรมทางหลวงตามเงื่อนไขที่กำหนด ภายในระยะเวลาดำเนินโครงการ 32 ปี แบ่งเป็นงาน 2 ระยะ ดังนี้

ระยะที่ 1 การออกแบบและก่อสร้าง เอกชนมีหน้าที่จัดหาแหล่งเงินทุน ออกแบบและก่อสร้างองค์ประกอบและสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ รวมถึงจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการต่าง ๆ ให้เป็นไปตามเงื่อนไขและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง ระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี

ระยะที่ 2 การดำเนินงานและบำรุงรักษา เอกชนมีหน้าที่ดูแลและบำรุงรักษา รวมถึงการบริหารจัดการโครงการฯ ให้เป็นไปตามเงื่อนไขและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง ระยะเวลาไม่เกิน 30 ปี

ทั้งนี้ การดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ ดังกล่าว เป็นไปตามขั้นตอนการคัดเลือกเอกชนที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 และระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยกรมทางหลวงจะจำหน่ายเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (Request for Proposal: RFP) ของทั้ง 2 โครงการพร้อมกัน ตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม ถึง 22 กันยายน 2566 ระหว่างเวลา 09.00 น. ถึง 15.00 น.

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการฯ ข้อกำหนดคุณสมบัติต่างๆ และขั้นตอนการคัดเลือกเอกชน ได้จากประกาศเชิญชวนฯ (ฉบับทางการ) ที่เว็บไซต์ www.doh.go.th หรือ www.doh-motorway.com

โดยกรมทางหลวงกำหนดให้เอกชนยื่นข้อเสนอช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2566 และคาดว่าจะดำเนินการคัดเลือกเอกชนแล้วเสร็จในต้นปี 2567 พร้อมลงนามสัญญาและเริ่มต้นก่อสร้างช่วงกลางปี 2567 เพื่อเปิดให้บริการสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการบางส่วนในปี 2568 และเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในปี 2569 ต่อไป