“เจ้ากรมทาง” เดินหน้าปรับโฉมใหม่ เหมาเข่งเร่งประมูล “ศูนย์บริการทางหลวง”
เจ้ากรมทางหลวง “สราวุธ ทรงศิวิไล” เหมาเข่งเตรียมเสนอครม.รัฐบาลชุดใหม่เร่งผลักดันโครงการพัฒนาศูนย์บริการทางหลวงบนเส้นทางมอเตอร์เวย์ เผยเอกชนใช้งบลงทุนก่อสร้างและพัฒนารวมมูลค่าเกือบ 2 หมื่นล้านบาท แถมรัฐยังรับรายได้รูปแบบค่าตอบแทนอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเปิดแถลงความพร้อมกรณีเปิดขายเอกสารประมูลคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนพัฒนาและบริหารจัดการโครงการ ‘ศูนย์บริการทางหลวงศรีราชา’ และโครงการ ‘สถานที่บริการทางหลวงบางละมุง’ บนทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง(มอเตอร์เวย์) หมายเลข 7 (สายกรุงเทพมหานคร – บ้านฉาง) เปิดจำหน่ายเอกสาร RFP 23 ส.ค.- 22 ก.ย. 66 คาดคัดเลือกเอกชนแล้วเสร็จต้นปี 67 ก่อนเร่งเปิดใช้งานเต็มรูปแบบปี 69
ล่าสุดวันนี้ (18 สค.66) กรมทางหลวง (ทล.) เปิดแถลงแผนการประมูลคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนพัฒนาและบริหารจัดการโครงการ ‘ศูนย์บริการทางหลวงศรีราชา’ และโครงการ ‘สถานที่บริการทางหลวงบางละมุง’ บนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 (สายกรุงเทพมหานคร – บ้านฉาง) หรือ M 7 เปิดจำหน่ายเอกสาร RFP 23 ส.ค.- 22 ก.ย. 2566 คาดคัดเลือกเอกชนแล้วเสร็จต้นปี 2567 ซึ่งภายในงานได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนและบริษัทเอกชนที่สนใจจากหลายภาคธุรกิจเข้าร่วมรับฟังและสอบถามรายละเอียดข้อสงสัยทั้งจากกลุ่มผู้พัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ กลุ่มธุรกิจต่างๆกลุ่มก่อสร้างและบริหารมอเตอร์เวย์และทางด่วน เป็นต้น
โดยไฮไลท์ของการจัดงานแถลงแผนการประมูลคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในการพัฒนาและบริหารจัดการโครงการศูนย์บริการทางหลวงศรีราชาและโครงการสถานที่บริการทางหลวงบางละมุง บนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 สายกรุงเทพมหานคร – บ้านฉาง ครั้งนี้ได้ดำเนินการภายหลังออกประกาศเชิญชวนเอกชนเข้าร่วมการประมูลคัดเลือกไปเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา เพื่อเผยแพร่ข้อมูลและแผนการประมูลโครงการที่พักริมทาง พร้อมกับเปิดโอกาสให้เอกชนที่มีศักยภาพและประสบการณ์มีส่วนร่วมในการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ ตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 เพื่อยกระดับการให้บริการของระบบทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสู่มาตรฐานสากล
ต่อเรื่องนี้นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยว่า ตามที่กรมทางหลวง(ทล.) ได้ออกประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนในการพัฒนาและบริหารจัดการโครงการศูนย์บริการทางหลวงศรีราชาและโครงการสถานที่บริการทางหลวงบางละมุง บนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 สายกรุงเทพมหานคร – บ้านฉางแล้วเมื่อวันที่ 16 สิงหาคมที่ผ่านมานั้น
ส่วนในวันนี้เป็นการเปิดโอกาสให้เอกชนที่สนใจและสื่อมวลชนได้เข้าร่วมรับฟังการแถลงแผนการประมูลคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ โดยให้ข้อมูลสาระสำคัญของประกาศเชิญชวน ได้แก่ ข้อมูลของโครงการ วัตถุประสงค์ในการเปิดให้เอกชนร่วมลงทุน พื้นที่ของโครงการ ขอบเขตของงานที่เอกชนจะต้องดำเนินการ ระยะเวลาของโครงการ คุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอ การจัดทำข้อเสนอและหลักเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือก เพื่อให้เป็นไปตามขั้นตอนการคัดเลือกเอกชนที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 และระเบียบที่เกี่ยวข้อง
โดยกรมทางหลวงจะเปิดจำหน่ายเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (Request for Proposal: RFP) ของทั้ง 2 โครงการพร้อมกันตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม ถึง 22 กันยายน 2566 ระหว่างเวลา 09.00 น. ถึง 15.00 น. สำหรับผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการฯ ข้อกำหนดคุณสมบัติต่างๆ และขั้นตอนการคัดเลือกเอกชนได้จากประกาศเชิญชวนฯ (ฉบับทางการ) ที่เว็บไซต์ www.doh.go.th หรือ www.doh-motorway.com
ทั้งนี้กรมทางหลวงกำหนดให้เอกชนยื่นข้อเสนอช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2566 และคาดว่าจะดำเนินการคัดเลือกเอกชนแล้วเสร็จในต้นปี 2567 พร้อมลงนามสัญญาและเริ่มต้นก่อสร้างช่วงกลางปี 2567 เพื่อเปิดให้บริการสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการบางส่วนในปี 2568 และเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในปี 2569 ต่อไป
เตรียมนำเสนอครม.ชุดใหม่อีกเพียบ!!!
อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวต่ออีกว่า ทั้ง 2 โครงการคิดเป็นในส่วนค่าดำเนินงานและบำรุงรักษา(O&M) ตลอดอายุสัมปทาน 30 ปี วงเงินลงทุนโครงการรวม 6,233 ล้านบาท ได้แก่ ศูนย์บริการทางหลวงศรีราชา วงเงิน 3,757 ล้านบาท และ 2.สถานที่บริการทางหลวงบางละมุง วงเงิน 2,476 ล้านบาท ในส่วนค่าตอบแทนจากผลการศึกษาได้ประเมินไว้ว่าที่จุดศรีราชาในปีแรกที่เปิดบริการพื้นที่เอกชนจะต้องจ่ายให้ ทล.ประมาณ 24 ล้านบาท ขณะที่จุดบางละมุงในปีแรกต้องจ่ายค่าตอบแทน 10 ล้านบาท ทั้งนี้ค่าตอบแทนนั้นเอกชนเสนอมาแข่งขันได้ อาจจะได้มากกว่าที่ ทล.ประเมินไว้ได้อีกด้วย
นอกจากนี้ยังเตรียมนำเสนอรัฐบาลชุดใหม่เห็นชอบเร่งผลักดันศูนย์บริการทางหลวงและสถานที่บริการทางหลวงในเส้นทางมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมา หรือสาย M 6 และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี หรือสาย M 81 รวมมูลค่าการลงทุนกว่า 1.6 หมื่นล้านบาทอีกด้วย
“M 6 มีแผนดำเนินการจำนวน 15 แห่งของตลอดระยะทางความยาวเส้นทางนี้ 196 กม. แบ่งออกเป็น 2 สัญญา 2 แพคเกจๆ แรก 7 แห่ง ส่วนแพคเกจที่ 2 จำนวน 8 แห่ง ส่วน M 81 ระยะทาง 96 กม. มีแผนดำเนินการ 6 แห่ง แบ่งเป็น 1 แพคเกจ คาดว่าปลายปีนี้หรือประมาณวันที่ 1 ธันวาคมนี้น่าจะเริ่มประกาศเชิญชวนหลังจากนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) ชุดใหม่เห็นชอบแล้ว เนื่องจากรูปแบบการลงทุน การวิเคราะห์ในหลายด้านจะคล้ายกับโครงการศรีราชาและบางละมุง”
อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวต่อว่า นอกจากสาย M 7 เส้นทางช่วงชลบุรี-มาบตาพุด จะพบว่าช่วงบางปะกงที่มีความแออัด กรมทางหลวงยังไปพัฒนาจุดพักรถอยู่ในเส้นทางซึ่งได้ดำเนินการเอง พบว่าทั้ง 4 แห่งมีประชาชนเข้าไปใช้บริการเป็นจำนวนมาก คือ จุดลาดกระบัง หนองรี มาบประชัน และทับช้าง จัดเป็นในเส้นทาง M 7 จำนวน 3 แห่ง และจุดทับช้างใน M 9 อีก 1 แห่ง โดยมีแผนร่วมลงทุนทั้ง 4 แห่งมาพัฒนารูปแบบร่วมลงทุนโครงการขนาดเล็กลงมา
“แบ่งเป็น 1 แพคเกจ ขณะนี้ผลการศึกษาแล้วเสร็จ เตรียมเสนอขออนุมัติโครงการ โดยจะเห็นภาพการนำเสนอครม. เห็นชอบเร่งผลักดันภายในปีนี้ จึงถือเป็นการเปลี่ยนโฉมครั้งสำคัญของการให้บริการบนทางหลวงของกรมทางหลวงโดยภาครัฐเป็นผู้จัดหาที่ดิน ส่วนภาคเอกชนเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างและบริหารจัดการโครงการดังกล่าวนับได้ว่าเป็นรูปแบบแรกๆที่กรมทางหลวงร่วมลงทุนในประเทศไทยอย่างเต็มรูปแบบนั่นเอง”
ด้านดร.ปิยพงษ์ จิวัฒนกุลไพศาล รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมทางหลวง กล่าวว่า นับเป็นการเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนที่มีศักยภาพเข้ามารับหน้าที่บริหารจัดการในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตามนโยบายของรัฐบาลโดยเฉพาะระบบมอเตอร์เวย์ โดยทั้ง 2 โครงการแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะแรก เป็นการออกแบบใช้ระยะเวลา 2 ปี ผู้ร่วมลงทุนมีหน้าที่จัดหาแหล่งเงินทุน ออกแบบผังการใช้พื้นที่ต่างๆ รูปแบบการให้บริการสาธารณูปโภค สถาปัตยกรรม งานระบบอื่นๆที่เกี่ยวข้อง สิ่งอำนวยความสะดวก จุดจำหน่ายสินค้าชุมชน สถานีบริการเชื้อเพลิง สิ่งปลูกสร้างในโครงการ นับเป็นมิติใหม่ของการพัฒนาศูนย์บริการทางหลวงที่จะมีเกิดขึ้นในประเทศไทย ส่วนระยะที่ 2 เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจาก 2 ปีแล้วจะเป็นขั้นตอนดูแลบำรุงรักษาเป็นระยะเวลา 30 ปี โดยเอกชนจะต้องชำระค่าตอบแทนให้กรมทางหลวงตามเงื่อนไขที่กำหนด
“ยืนยันว่าพร้อมส่งมอบพื้นที่ให้ภาคเอกชนได้ทันทีภายหลังการลงนามสัญญาเรียบร้อยแล้ว เมื่อเอกชนก่อสร้างอาคารและสิ่งปลูกสร้างหลักแล้วเสร็จ จะตกเป็นของกรมทางหลวง โดยกรมทางหลวงจะให้สิทธิเอกชนครอบครองและใช้ประโยชน์ในการให้บริการและบริหารจัดการเชิงพาณิชย์ ซึ่งกรมทางหลวงจะมีระบบกำกับดูแลและตรวจสอบเพื่อให้เห็นว่าได้มาตรฐานตามเกณฑ์ที่กรมทางหลวงกำหนดไว้ต่อไปและสร้างความพึงพอใจให้ประชาชนผู้ใช้บริการมากที่สุด” ดร.ปิยพงษ์กล่าว
สำหรับโครงการศูนย์บริการทางหลวงศรีราชาและโครงการสถานที่บริการทางหลวงบางละมุง ที่เร่งเปิดประกวดราคาในครั้งนี้จะเป็นจุดแวะพักที่ผู้เดินทางสามารถพักผ่อนอิริยาบทจากการเดินทาง ทำธุระส่วนตัว ช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุและความสูญเสียจากความเหนื่อยล้าหรือหลับในของผู้ขับขี่ ตลอดจนช่วยให้ผู้ใช้ทางประหยัดเวลาและลดค่าใช้จ่ายจากการเดินทางเข้า-ออกทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองโดยไม่จำเป็นอีกด้วย