คมนาคมแบ่งงานลงตัว เดินหน้าเร่งขับเคลื่อน 3 มิติกระตุ้นเศรษฐกิจ
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ประชุมมอบนโยบายการดำเนินงาน “คมนาคม เพื่อความอุดมสุขของประชาชน” พร้อมเน้นย้ำให้ดำเนินงานตอบสนองความต้องการของประชาชนใน 3 มิติทั้งด้านเศรษฐกิจ ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อม ด้านปลัดคมนาคมเผยแบ่งงานรับผิดชอบกำกับดูแลให้ 2 รมช. รับผิดชอบเรียบร้อยแล้ว
วันนี้ (14 กันยายน 2566) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานประชุมมอบนโยบายการดำเนินงานของกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วยนางมนพร เจริญศรี และนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม โดยมี นายพงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม คณะผู้บริหารกระทรวงคมนาคม และหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดเข้าร่วมประชุม ณ หอประชุมราชรถ อาคารราชรถสโมสร กระทรวงคมนาคม
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ กล่าวว่า ได้มอบนโยบาย “คมนาคม เพื่อความอุดมสุขของประชาชน” เพื่อให้ผู้บริหารกระทรวงฯ และหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงาน เพื่อให้ประชาชนมีความสุขในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ ความปลอดภัยของการให้บริการที่เป็นมาตรฐานสากล และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กระทรวงฯ ต้องตอบสนองความคาดหวังของรัฐบาลและประชาชนทั้งด้านการเดินทาง การใช้บริการที่เชื่อมโยงการให้บริการระบบคมนาคมขนส่งในทุกมิติ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นประตูและเป็นศูนย์กลางการเดินทางของภูมิภาค ส่งเสริมศักยภาพทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และความมั่นคงของประเทศ ภายใต้มาตรฐานความปลอดภัยในการเดินทางสูงสุด ลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ และส่งเสริมให้เกิดความสุขจากการยกระดับคุณภาพชีวิต ลดระยะเวลาการเดินทาง ลดต้นทุน ลดอัตราค่าบริการในการเดินทางและขนส่ง ลดปัญหาอุปสรรคและสร้างโอกาสในการเดินทางของคนทุกกลุ่มอย่าง “ทั่วถึงและเท่าเทียม” รวมทั้งส่งเสริมนโยบายของรัฐบาลในการรักษาสิ่งแวดล้อม การลดใช้พลังงานจากฟอสซิล และส่งเสริมการใช้พลังงานไฟฟ้าเพื่อให้บริการในระบบขนส่ง
โดยมีแนวทางการดำเนินงานต่างๆ ดังนี้
1. คมนาคมเปิดประตูการค้า การท่องเที่ยว สร้างการเป็นศูนย์กลางเพื่อเชื่อมโยงการเดินทางทุกมิติ ประกอบด้วย การส่งเสริมและยกระดับประตูการค้าและการท่องเที่ยว ด้วยการเพิ่มขีดความสามารถและพัฒนาท่าอากาศยานหลัก การส่งเสริมพัฒนาโครงข่ายระบบรางทั้งในเมืองและระหว่างเมือง ด้วยการพัฒนารถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูง การส่งเสริมและพัฒนาระบบโครงข่ายทางถนนและทางพิเศษให้ครอบคลุมความต้องการเดินทางของประชาชน และการส่งเสริมและพัฒนาระบบการขนส่งสินค้าทางน้ำที่มีต้นทุนต่ำที่สุด ด้วยการเพิ่มขีดความสามารถของท่าเรือแหลมฉบัง เป็นต้น
2. คมนาคมเพื่อความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชน เนื่องจากปัจจุบันสถิติอุบัติเหตุและอัตราการเสียชีวิตของประชาชนยังคงอยู่ในลำดับต้น ๆ ของโลก สิ่งที่ประชาชนต้องการ คือ การสร้างความปลอดภัยพื้นฐานและการให้บริการของกระทรวงฯ การลดอุบัติเหตุทางถนน การเสริมสร้างความปลอดภัยในทุกมิติทั้งระหว่างการก่อสร้างและระหว่างการให้บริการประชาชน การกำกับดูแลระบบการขนส่ง ภาคการให้บริการต้องตรวจสอบมาตรการความปลอดภัยทั้งสภาพรถ คนประจำรถ คนขับ และยกระดับไปสู่มาตรฐานที่เพิ่มสูงขึ้น
3. คมนาคมเพื่อคุณภาพชีวิตและลดต้นทุนในการเดินทาง เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการให้บริการระบบคมนาคมขนส่งทั้งคนและสินค้าจากต้นทางไปถึงปลายทางให้รวดเร็วที่สุด มีความสะดวก สะอาด ปลอดภัย ตรงเวลา ราคาต่ำ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้กับประชาชนทุกกลุ่ม ทุกวัน ทุกพื้นที่ ครอบคลุมการให้บริการแก่ผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่และรายย่อยในภาคการเกษตร อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว เช่น การเดินทางแบบไร้รอยต่อ ล้อ – ราง – เรือ และการเพิ่มประสิทธิภาพและจัดระเบียบการขนส่งสินค้า เป็นต้น
4. คมนาคมเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น Green Transport เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์และ PM 2.5 โดยเน้นย้ำให้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือกในระบบการเดินทางและขนส่งทั้งในรถโดยสารสาธารณะ รถไฟ เรือโดยสาร และระบบการขนส่งต่าง ๆ รวมทั้งการบูรณาการ ร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาการจราจร
นางมนพร เจริญศรี กล่าวว่า จากนโยบายของรัฐบาลนำมาสู่นโยบายของกระทรวงฯ จะนำไปสู่การปฏิบัติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือนร้อนให้กับประชาชน ผลักดันการขนส่งสาธารณะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยการใช้พลังงานสะอาด การขนส่งสินค้าแบบไร้รอยต่อเพื่อลดต้นทุนของผู้ประกอบการและพัฒนาระบบโลจิสติกส์เพื่อเพิ่มศักยภาพไปสู่ระดับสากล ทั้งนี้จะริเริ่มโครงการ “ราชรถยิ้ม” คือ ข้าราชการ พนักงาน และบุคลากร ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ ทุกคนจะต้องมีรอยยิ้ม และมีความสุขในการทำงาน เพื่อส่งต่อความสุขให้กับประชาชนและต้องดำเนินงานตามหลักธรรมาภิบาล หลักคุณธรรม หลักนิติธรรม โดยเน้นเรื่องความโปร่งใสตรวจสอบได้เป็นสำคัญ
นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ กล่าวว่า กระทรวงฯ เป็นกลไกสำคัญที่จะขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ พร้อมบูรณาการการทำงานในทุกภาคส่วนเพื่อกำกับดูแลนโยบายให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล โดยให้ความสำคัญกับโครงการที่เร่งด่วนเป็นลำดับแรก มีผลงานเป็นเป็นที่ประจักษ์ ปรับปรุงระบบการทำงานให้มีความทันสมัย จากนี้ทุกหน่วยงานจะร่วมมือกันทำงาน และมีเป้าหมายไปในทิศทางเดียวกัน ช่วยกันแก้ไขปัญหาความเดือนร้อนของประชาชน เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นให้กับประชาชนชาวไทยทุกคน
ด้านนายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ล่าสุดท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้แบ่งหน้าที่รับผิดชอบกำกับดูแลให้กับรัฐมนตรีช่วยว่าการทั้ง 2 ท่านเรียบร้อยแล้ว ประกอบไปด้วยนางมนพร เจริญศรี จะกำกับดูแล 5 หน่วยงาน ได้แก่ กรมเจ้าท่า การท่าเรือแห่งประเทศไทย องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ สถาบันการบินพลเรือน และบริษัทโรงแรมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จำกัด ในส่วนนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ จะกำกับดูแล 8 หน่วยงาน ได้แก่ กรมการขนส่งทางบก กรมการขนส่งทางราง บริษัทขนส่งจำกัด การรถไฟแห่งประเทศไทย บริษัทเอสอาร์ทีแอสเสท จำกัด บริษัทรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และบริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด ส่วนอีก 9 หน่วยงานที่เหลือจะกำกับดูแลโดยนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ