‘บิ๊กเบิ้ล’ สั่งทำแผนฟีดเดอร์ ดึงทุกโหมด-ทุกโนดป้อนรฟฟ.สายสีม่วง-สีแดง

คมนาคมเร่งเชื่อมระบบฟีดเดอร์ป้อนระบบรางเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนให้เข้าถึงระบบขนส่งมวลชนได้ง่ายและสะดวกรวดเร็วขึ้นหลังปรับค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสายและปริมาณผู้โดยสารมีแนวโน้มเพิ่มต่อเนื่อง ‘บิ๊กเบิ้ล’ รองปลัดคมนาคมด้านขนส่งนั่งแป้นหัวโต๊ะสั่งการบ้านหน่วยเกี่ยวข้องจัดทำข้อมูลนำเสนอวันศุกร์หน้า(3 พย.66) เผยพร้อมดึงทุกโหมดและทุกโนดการเดินทางป้อนรถไฟฟ้าสายสีม่วง-สายสีแดง

วันนี้ (27 ตค.2566) ณ ห้องประชุม 3 กระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม (หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง) เป็นประธานประชุมหน่วยเกี่ยวข้องกรณีแผนจัดทำระบบฟีดเดอร์ป้อนผู้โดยสารให้กับระบบราง โดยเฉพาะรถไฟฟ้าสายสีม่วงและสายสีแดง ภายหลังจากได้มีการปรับค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสายแล้วพบว่ามีปริมาณผู้โดยสารใช้บริการในปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น

นายสรพงศ์เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า การประชุมในวันนี้ได้มอบการบ้านให้ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องกลับไปเตรียมข้อมูลมานำเสนอ อาทิ เส้นทางเดินรถ โหมดการเดินทางที่เหมาะสม เช่น รถสองแถว รถเมล์โดยสาร ขสมก. โนดการเชื่อมต่อในแต่ละพื้นที่ อาทิ สถานีขนส่งผู้โดยสารสายใต้ สถานีขนส่งผู้โดยสารรังสิต สถานีรถไฟฟ้าสายสีม่วงคลองบางไผ่ที่บางใหญ่ หรือสถานีกรุงเทพอภิวัฒน์ เป็นต้น

“โดยผลหารือร่วมกัน มีข้อสรุปเบื้องต้นดังนี้คือ 1) การใช้สถานีรถไฟฟ้าคลองบางไผ่ เป็นศูนย์ Transportation Hub ฝั่งตะวันตกของกรุงเทพมหานครเชื่อมโยงรถไฟฟ้า รถโดยสารประจำทางทั้งระหว่างเมืองที่บริษัทขนส่งจำกัด (บขส.) รับผิดชอบ และในเมืองที่องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) หรือผู้ประกอบการเอกชนรับผิดชอบ เพื่อเป็นจุดเชื่อมต่อร่วมกัน และ 2) การมอบหมายให้ กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กรมการขนส่งทางราง(ขร.) บริษัทรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด(รฟฟท.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.)และผู้ประกอบการเดินรถเอกชน เสนอความคิดเห็นการปรับเส้นทาง และเสนอเส้นทางเพื่อเชื่อมไปยังแหล่งชุมชน และสถานีรถไฟฟ้าสายสีม่วง -สีแดง”

ด้านนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก(ขบ.) กล่าวว่า ปัจจุบันขบ.ได้ประสานขสมก.เชื่อมรถโดยสารป้อนเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวต่างๆในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑลอย่างครอบคลุมแล้ว อาทิ ตลาดน้ำ สวนสนุก เป็นต้น

“วันนี้เป็นการมอบการบ้านให้แต่ละหน่วยไปคิดวิธีการหรือแนวทางมานำเสนอในการประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 3 พ.ย.นี้อีกครั้ง ขณะนี้ยังไม่มีการเอ่ยถึงการจัดทำเส้นทางสายใหม่ เนื่องจากจะต้องมีขั้นตอนดำเนินการที่อาจจะต้องใช้ระยะเวลาบ้าง และจะเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเสนอเส้นทางที่เหมาะสมเข้ามาที่ขบ.เพื่อพิจารณาขออนุมัติดำเนินการต่อไป เบื้องต้นนั้นจะเน้นรีวิวสิ่งที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดก่อน ให้มีการปรับปรุงใหม่ให้ดีขึ้น เบื้องต้นจะเน้นใช้รถขสมก. รถเอกชนหรือรถสองแถวเข้าไปเชื่อมโยง เข้าไปคิกวินในแต่ละเส้นทางให้เป็นปัจจุบัน โดยเฉพาะโนดใหญ่ๆ ไม่เว้นกระทั่งกรณีเปิดให้รถหมวด 2 ของบขส.ที่ให้บริการโซนไม่ไกลจากกรุงเทพฯมากนักได้เข้าไปรับ-ส่งผู้โดยสารเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการขนส่งมวลชนอย่างรถไฟ-รถไฟฟ้าได้ง่ายขึ้น”

สอดคล้องกับดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง กล่าวว่า ณ วันนี้เราคงต้องเพิ่มศักยภาพโนดต่างๆ ไม่เว้นแม้กระทั่งโนดสำคัญๆที่ควรเอามาใช้ประโยชน์ อาทิ ศูนย์การค้าเซียร์รังสิต มหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ตลอดจนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

ทั้งนี้กรมการขนส่งทางราง(ขร.) ได้เปิดเผยปริมาณผู้โดยสารระบบรางของวันที่ 26 ตค.66 ซึ่งเป็นวันทำงานปกติ พบว่าสายสีแดงมีผู้โดยสารใช้บริการจำนวน 28,795 คน แอร์พอร์ตเรลลิ้งค์ 64,809 คน สายสีม่วง 72,910 คน สายสีเหลือง 38,703 คน สายสีน้ำเงิน 468,279 คน สายสีเขียว 810,308 คน และสายสีทอง 6,053 คน