จากสาย ‘สีชมพู’ สู่สาย ‘สีเหลือง’ บททดสอบโมโนเรล 2 สายแรกของไทย

เรียกได้ว่าสร้างความโกลาหลตั้งแต่ช่วงเช้ามืดของวันที่ 24 ธันวาคม 2566 ทิ้งทวนปีเก่า 2566 ก่อนเข้าสู่เทศกาลปีใหม่ 2567 ตามที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) ในฐานะเจ้าของโครงการ และบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ในฐานะผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี (อยู่ระหว่างทดลองการเดินรถ) รับแจ้งเหตุรางจ่ายกระแสไฟฟ้า (Conductor rail) หลุดร่วงลงชั้นพื้นถนน ส่งผลให้ต้องปิดให้บริการตั้งแต่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรีถึงสถานีเลี่ยงเมืองปากเกร็ด

โดยเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อเวลา 04.45 น. บริเวณสถานีสามัคคี (PK04) เบื้องต้นพบว่ามีรถยนต์ที่จอดใต้สถานีจำนวน 3 คันได้รับความเสียหาย แต่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บแต่อย่างใด ทั้งนี้จากเหตุดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการให้บริการเดินรถ จึงมีความจำเป็นต้องปิดให้บริการ โดยภายหลังจากเกิดเหตุการณ์ทางเจ้าหน้าที่และหน่วยงานทุกฝ่ายได้เร่งตรวจสอบหาสาเหตุทันที และได้กันพื้นที่ด้านความปลอดภัยให้แก่ประชาชน พร้อมกับดำเนินการตามมาตรการในการป้องกันเหตุ เร่งตรวจสอบอย่างละเอียดเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก

คมนาคมยกคณะแถลงแจงข้อเท็จจริงทันที

ทั้งนี้ภายหลังเกิดเหตุดังกล่าวนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วยนางมนพร เจริญศรี และนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดแถลงข่าวชี้แจงพร้อมยืนยันระบบรถไฟฟ้ามีความปลอดภัยในการเดินทาง

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ กล่าวถึงกรณีนี้ว่าสำหรับอุบัติเหตุในส่วนงานก่อสร้างสาธารณูปโภคของกระทรวงคมนาคมครั้งนี้นั้นโดยตลอดระยะเวลาตั้งแต่เกิดเหตุวันที่ 24 ธันวาคม 2566 ตนได้มีการลงพื้นที่ตรวจสอบทันทีซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วิศวกร ได้เข้าทำการตรวจสอบอีกครั้ง ทำให้ช่วงเช้าของวันที่ 25 ธันวาคม 2566 สามารถเปิดให้บริการจำนวน 23 สถานี ตั้งแต่สถานีแจ้งวัฒนะ (PK08) – สถานีมีนบุรี (PK30) ตั้งแต่เวลา 06.00 – 24.00 น. แต่เบื้องต้นได้สั่งปิด 7 สถานีคือสถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) ไปจนถึงสถานีเลี่ยงเมืองปากเกร็ด (PK07) ที่เกิดความขัดข้องจนกว่าจะมีการตรวจสอบพร้อมเร่งแก้ไขให้เรียบร้อยโดยเร็วต่อไป

สำหรับระยะเวลาที่เปิดทดลองใช้บริการฟรีที่เสียไปจากการปิดให้บริการ 7 สถานีดังกล่าวนั้นจะมีการเจรจากับผู้ประกอบการให้ขยายระยะเวลาการเปิดทดลองใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีชมพูทั้งเส้นทางอีกครั้ง เพื่อประโยชน์สูงสุดที่ประชาชนได้รับเป็นสำคัญ

พบผลเกี่ยวเนื่องจากงานรื้อถอนระบบสาธารณูปโภค

ด้านนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ กล่าวว่า ได้สั่งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมตรวจสอบทุกขั้นตอนไม่ให้เกิดเหตุซ้ำรอย เพื่อสร้างความเชื่อมั่น พร้อมเจรจาผู้รับสัมปทานขยายระยะเวลาทดลองเดินรถฟรีให้ประชาชนจากที่ได้ลงพื้นที่ตรวจหาสาเหตุที่เกิดขึ้น และทำการประมวลผลจนได้ข้อสันนิษฐานว่า เกิดจากการรื้อถอนอุปกรณ์ด้านโครงสร้างจากการดึงเข็มพืดเหล็ก (sheet pile) ของโครงการระบบสาธารณูปโภคบริเวณด้านล่างของโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู ออกตามขั้นตอนก่อสร้างเมื่องานแล้วเสร็จโดยใช้รถเครนดำเนินการ

ดังนั้นจึงอาจมีเหตุการณ์ที่ทำให้ระดับของรางนำไฟฟ้าไม่อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องจากการกระแทกของแผ่นเหล็กที่รถเครนดึงออกจากจุดรื้อถอนส่งผลให้เมื่อมีตัวรับกระแสไฟฟ้า (Collector Shoe) ที่ติดกับตัวรถตรวจความพร้อมของเส้นทางซึ่งกำลังเคลื่อนที่ไปกระแทกส่งผลให้เกิดการขยับตัวของรางนำไฟฟ้าออกจากจุดยึดแล้วร่วงลงมาด้านล่างบนถนนบางส่วน (ประมาณ 300 เมตร) และส่วนใหญ่ติดค้างอยู่บนโครงสร้าง ระหว่างสถานีแคราย (PK02) ถึงสถานีกรมชลประทาน (PK05) ระยะทางรวมประมาณ 4.3 กม. นอกจากนี้ยังพบว่ามีรอยไหม้จากประกายไฟที่เกิดจากการลัดวงจร (Short Circuit) 1 จุด บริเวณคานทางวิ่งเหนือสถานที่ก่อสร้างโครงการระบบสาธารณูปโภคดังกล่าว (ใกล้ปากซอยติวานนท์ 34)

นายสุรพงษ์ ยังกล่าวย้ำอย่างชัดเจนในมาตรการเข้มงวดไว้ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต้องนำมาเป็นบทเรียนที่สำคัญของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับโครงการรถไฟฟ้าทั้งงานก่อสร้างและระบบเดินรถ เมื่อมีการดำเนินการใด ๆ เช่น ก่อสร้าง รื้อถอน ต้องมีการแจ้งและส่งมอบพื้นที่ ควบคุมงานพร้อมกัน ทั้งผู้ประกอบการ และ ขร. รฟม. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแล ดังนั้นเพื่อไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก ที่ผ่านมาได้มีการหารือระหว่างหน่วยงานรัฐ และเอกชนมาโดยตลอด และปัจจุบันมีรถตรวจการณ์พร้อมเจ้าหน้าที่คอยตรวจสอบความพร้อมเส้นทางก่อนให้บริการในทุก ๆ เช้าเวลา 04.00 น. เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีชมพูตลอดการเดินทาง ทั้งนี้ต่อไปจะต้องเพิ่มมาตรการตรวจการทำงาน และความเรียบร้อยสำหรับงานที่มีการดำเนินงานใกล้เส้นทางการวิ่งของรถไฟฟ้าให้รัดกุมมากยิ่งขึ้น เพื่อป้องกันเหตุการณ์ที่ไม่ปลอดภัยในอนาคต

ล้อประคองสายสีเหลืองหล่นรับปีใหม่ 67

เหตุปีเก่ายังไม่จืดจางก็ประเดิมปีใหม่ 2567 ทันทีโดยเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2567 ที่ผ่านมาราวเวลา 18.21 น.ได้เกิดเหตุการณ์กรณีเหตุล้อประคอง (Guide Wheel) หลุดร่วงจากขบวนรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง ต่อกรณีนี้นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ กล่าวว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ตรวจสอบเพิ่มเติมที่ศูนย์ซ่อมบำรุงพบว่าเป็นล้อประคอง (Guide Wheel) ด้านล่างฝั่งขวา (ด้านนอกของคานทางวิ่ง) ของรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง หมายเลข YM 17 (ตู้หมายเลข YA117) หลุดออกจากแคร่ล้อ (Bogie) จำนวน 1 ล้อ แล้วได้หลุดร่วงลงใส่รถแท็กซี่สีเขียวเหลือง บริเวณถนนเทพารักษ์ ระหว่างสถานีทิพวัล (YL22) และสถานีศรีเทพา (YL21) ฝั่งมุ่งหน้าปลายทางสถานีลาดพร้าว ทำให้รถแท็กซี่ได้รับความเสียหายบริเวณด้านหน้ารถ โดยไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบสาเหตุเบื้องต้นว่าเกิดจากเบ้าลูกปืน (Bearing) ของล้อประคอง (Guide Wheel) เสียหาย ทำให้ล้อประคองหลุดร่วงลงมา ซึ่งขบวนรถไฟฟ้าสายสีเหลืองที่ประสบเหตุเป็นขบวนใหม่ จากการตรวจสอบประวัติการซ่อมบำรุง (Maintenance Log) พบว่ามีการซ่อมบำรุงตามรอบวาระโดยสม่ำเสมอ (ประจำวัน ประจำสัปดาห์ และวาระตรวจละเอียดทุก 15 วัน) ปัจจุบันบริษัท Alstom (ผู้ผลิต) อยู่ระหว่างส่งแล็ปไปตรวจสอบชุดล้อประคองที่หลุดออกมา เพื่อหาสาเหตุโดยละเอียดต่อไป คาดว่าจะใช้ระยะเวลาตรวจภายใน 1 เดือนนี้จึงจะทราบผล

กลุ่มบีทีเอสยกคณะออกมาแจงความชัดเจน

ล่าสุดเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2567 นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (EBM) ในฐานะผู้รับสัมปทาน โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง นำคณะผู้บริหาร ประกอบด้วย นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการ, นายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการ, ดร.ชัยศักดิ์ ศรีเศรษฐนิล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บีทีเอส อินฟราสตรัคเจอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด, นายสุมิตร ศรีสันติธรรม ผู้อำนวยการใหญ่สายปฏิบัติการ บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และนายโทบี้ ไทเบอเกียน กรรมการผู้จัดการ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออก บริษัท อัลสตอม ประเทศไทย (Alstom Thailand) และสื่อมวลชนกว่าครึ่งร้อยคนร่วมตรวจความพร้อมรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง ณ อาคารซ่อมบำรุง (Main Workshop) รถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง ย่านถนนศรีนครินทร์

ตอนหนึ่งของการออกมาแถลงข่าวภายหลังเหตุการณ์เกิดขึ้นไปแล้วนั้นนายคีรี กล่าวว่า การมาตรวจเยี่ยมที่อาคารซ่อมบำรุงฯ เป็นการตอกย้ำถึงความพร้อม และความปลอดภัยของขบวนรถก่อนให้บริการ ยืนยันว่าขบวนรถทุกขบวนได้เข้ารับการตรวจสอบแบบ All Check 100% แล้วซึ่งเป็นการตรวจสอบขบวนรถร่วมกัน 4 ฝ่าย ได้แก่ กรมการขนส่งทางราง การรถไฟฟ้าขนส่งแห่งประเทศไทย (รฟม.) ผู้รับสัมปทาน และบริษัทผู้ผลิต ดังนั้นขบวนรถที่ออกมาให้บริการในขณะนี้จึงมีความปลอดภัยในการเดินทางทุกขบวน จึงขอให้มั่นใจว่าจะไม่มีเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นอีก

บิ๊กคีรีสั่งนำรถ 30 ขบวนตรวจสอบเข้ม

นายคีรี ยังกล่าวด้วยว่าต้องขอโทษประชาชนผู้ใช้รถ พร้อมยืนยันว่าความปลอดภัยในการเดินรถไฟฟ้าเป็นสิ่งที่กลุ่มบีทีเอสให้ความสำคัญมากที่สุด ซึ่งบริษัทฯ ให้บริการมากว่า 30 ปี อำนวยความสะดวกให้กับประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นขอยืนยันว่ารถไฟฟ้าโมโนเรลมีความปลอดภัย อย่างไรก็ตามได้ให้บริษัทอัลสตอม ประเทศไทยผู้ผลิตรถไฟฟ้านำรถทั้ง 30 ขบวนมาตรวจสอบล้อประคองใหม่ โดยดำเนินการเสร็จแล้วกว่า 600 ล้อ (จากทั้งหมด 1,080 ล้อ) คิดเป็น 60% และจากนี้ทางบริษัทผู้ผลิตฯ จะส่งลูกปืนล็อตใหม่มาเปลี่ยนทั้งหมด รวมถึงเพิ่มความถี่ในการซ่อมบำรุงให้มากขึ้น เพื่อความปลอดภัยสูงสุด ส่วนผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ล้อประคองร่วงหล่นทางบริษัทได้ดำเนินการเยียวยาตามกฎหมายให้ดีที่สุด

ดังนั้นจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น 2-3 กรณีกระทรวงคมนาคม การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ตลอดจนกลุ่มบริษัทบีทีเอสที่ประกอบไปด้วยบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ผู้บริหารจัดการเดินรถไฟฟ้าสายสีชมพู และบริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด หรือ EBM ผู้บริหารจัดการเดินรถไฟฟ้าสายสีเหลืองไม่ได้นิ่งนอนใจในการเรางตรวจสอบข้อเท็จจริง อีกทั้งยังได้ยืนยันความปลอดภัยในระบบรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และสายสีชมพูว่าพร้อมที่จะดำเนินการทุกมาตรการไม่ให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นอีก ทั้งการป้องกัน ตรวจสอบ ในด้านความปลอดภัยการเดินรถ การก่อสร้างและกำหนดมาตรการ กฎระเบียบลงโทษผู้รับเหมา เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนทั้งที่ใช้บริการรถไฟฟ้า และใช้ชีวิตเดินทางสัญจรในพื้นที่ของรถไฟฟ้า ส่วนในอนาคตจะมีการพิจารณาถึงเรื่องการตัดคะแนนหรือพิจารณาขึ้นบัญชีแบล็คลิสต์ เพื่อสร้างมาตรฐานให้กับผู้ประกอบการนั่นเอง