ทล.เปิดรับฟังความเห็น ร่วมลงทุน O&M มอเตอร์เวย์ M82
กรมทางหลวง(ทล.) เปิดรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน (Market Sounding) โครงการทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 (M82) สายทางยกระดับบางขุนเทียน – บ้านแพ้ว สำหรับการให้เอกชนร่วมลงทุนในการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) ค่ากว่า 1.5 หมื่นล้านบาท เพิ่มการเดินทางที่สะดวก คล่องตัว ด้วยระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางแบบ M-Flow ทั้งโครงการ คาดว่าทยอยเปิดให้บริการทดลองใช้งานได้ตั้งแต่ปลายปีนี้และเร่งเปิดบริการเต็มรูปแบบได้ช่วงปลายปี 2569
วันนี้ (31 มกราคม 2567) เวลา 08.30 น. ณ โรงแรม อีสติน แกรนด์ พญาไท กรุงเทพฯ กรมทางหลวงจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน (Market Sounding) โครงการทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 สายทางยกระดับบางขุนเทียน – บ้านแพ้ว สำหรับการให้เอกชนร่วมลงทุนในการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) โดยมีนายปิยพงษ์ จิวัฒนกุลไพศาล รองอธิบดีกรมทางหลวง ฝ่ายวิชาการ เป็นประธาน พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกรมทางหลวง กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา หน่วยงานภาครัฐและเอกชน สถาบันการเงิน สถานเอกอัครราชทูต หอการค้าต่างประเทศ ตลอดจนสื่อมวลชน เข้าร่วมงานประมาณ 200 คน
นายปิยพงษ์ จิวัฒนกุลไพศาล รองอธิบดีกรมทางหลวง ฝ่ายวิชาการ เปิดเผยว่า โครงการทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 สายทางยกระดับบางขุนเทียน – บ้านแพ้ว เป็นนโยบายเร่งด่วนของกระทรวงคมนาคมในการแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดบนถนนพระราม 2 ให้ลุล่วงอย่างรวดเร็วและยั่งยืน ซึ่งนอกจากประโยชน์อันเกิดจากการมีโครงข่ายทางหลวงมาตรฐานสูงเพิ่มเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการเดินทางให้แก่ประชาชนแล้ว ยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ตอนล่างของกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล ต่อเนื่องจนถึงภาคใต้ของประเทศ
โดยขณะนี้กรมทางหลวงอยู่ระหว่างก่อสร้างงานโยธาของโครงการทั้ง 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงที่ 1 บางขุนเทียน – เอกชัย (กม.11+960 – กม.20+295 ของถนนพระราม 2) มีความก้าวหน้าประมาณ 88% และช่วงที่ 2 เอกชัย – บ้านแพ้ว (กม.20+295 – กม.36+645 ของถนนพระราม 2) มีความก้าวหน้าประมาณ 39% (ข้อมูล ณ เดือนธันวาคม 2566) ซึ่งมีแผนเร่งรัดงานก่อสร้างโยธาทั้งหมดให้แล้วเสร็จภายในปี 2568
ทั้งนี้เพื่อให้โครงการมีความพร้อมและสามารถเปิดบริการเต็มรูปแบบได้โดยเร็ว กรมทางหลวงจึงเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนในการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) ตามมติเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีในคราวประชุมเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2565 ให้ดำเนินโครงการร่วมลงทุนตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ซึ่งปัจจุบันกรมทางหลวงอยู่ระหว่างการจัดเตรียมเอกสารการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน (Request For Proposal: RFP) และจะออกประกาศเชิญชวนให้เอกชนยื่นข้อเสนอการร่วมลงทุนต่อไป
สำหรับโครงการทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 สายทางยกระดับบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว เปิดให้เอกชนมีส่วนร่วมลงทุนในการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) ในรูปแบบ PPP Gross Cost แบ่งการดำเนินงานเป็น 2 ระยะ รวมระยะเวลาทั้งสิ้นไม่เกิน 32 ปี ดังนี้
ระยะที่ 1 เอกชนเป็นผู้ออกแบบ ก่อสร้าง และติดตั้งงานระบบและองค์ประกอบที่เกี่ยวข้อง ด้วยระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น หรือ M-Flow ทั้งโครงการ รองรับการเดินทางเชื่อมโยงถนนสายหลักตลอดแนวเส้นทางจำนวน 6 แห่ง พร้อมเชื่อมการเดินทางไร้รอยต่อกับโครงการทางพิเศษ สายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกด้านตะวันตก ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ในระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี
ระยะที่ 2 เอกชนเป็นผู้ดำเนินงานและบำรุงรักษาทั้งหมดสำหรับโครงการ ครอบคลุมทั้งงานโยธาที่รัฐเป็นผู้ลงทุน และงานระบบที่เอกชนเป็นผู้ลงทุน ตลอดจนรับผิดชอบในการสร้างและนำส่งข้อมูลรายการผ่านทาง (Transaction Generation) ให้แก่ภาครัฐ รวมทั้งดำเนินงานอื่นที่เกี่ยวข้องตามขอบเขตงานและเงื่อนไขที่กำหนด ในระยะเวลาไม่เกิน 30 ปีโดยภาครัฐเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เอกชนลงทุนก่อสร้าง รวมถึงรายได้ทั้งหมดจากค่าธรรมเนียมผ่านทาง ส่วนเอกชนจะได้รับค่าตอบแทนจากการให้บริการ (AP) เป็นเวลา 30 ปีนับจากปีที่เปิดให้บริการ
ทั้งนี้ในปี 2568 คาดว่าการก่อสร้างงานโยธาช่วงถึงบ้านแพ้วจะแล้วเสร็จทั้งหมด โดยทล. อาจจะพิจารณาทดลองเปิดให้ประชาชนเข้าไปใช้บริการเป็นบางช่วงได้ในปลายปีนี้ ต่อเนื่องกันไปแต่จะขอพิจารณาด้านความพร้อมของเส้นทางอีกครั้ง คาดว่าการติดตั้งงานระบบจะแล้วเสร็จช่วงปลายปี 2569
“กรณีเปิดรับฟังความเห็นนักลงทุนจะจัดเพียง 1 ครั้งซึ่งโครงการนี้มีวงเงินร่วมลงทุนทั้งโครงการราว 1.5 หมื่นล้านบาท โดยจะมีการลงทุนในระยะแรกราว 1,000 ล้านบาท ส่วนอีก 1.4 หมื่นล้านบาทจะเป็นค่าบำรุงรักษาตลอดระยะเวลาสัญญา 30 ปี ส่วนเรื่องราคาที่จะนำมาตัดสินว่าจะสนับสนุนรัฐได้มาก-น้อยอย่างไรนั้นขณะนี้ยังไม่ได้มีการกำหนดไว้ แต่จะให้มีการกำหนดไว้ในประกาศเชิญชวนอย่างเป็นทางการ ทั้งนี้แนวทางปฏิบัติยังยึดตามแนวทางที่ได้ดำเนินการกับโครงการอื่นๆที่ปฏิบัติไปแล้ว และยังคงเปิดให้ภาคเอกชนจากต่างประเทศเข้ามาร่วมแข่งขันได้แต่เอกชนไทยจะเป็นผู้นำกลุ่มนั้นๆ”
การจัดสัมมนาในครั้งนี้จะช่วยให้นักลงทุนผู้สนใจทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ที่มีประสบการณ์ความรู้ ความชำนาญด้านการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีงานระบบที่เกี่ยวข้องได้รับทราบข้อมูลโครงการที่ชัดเจน และเป็นการเตรียมความพร้อมให้เอกชนผู้สนใจในการเตรียมตัวยื่นข้อเสนอเข้าร่วมลงทุนในการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) โครงการทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 สายทางยกระดับบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว เพื่อร่วมกันยกระดับการเดินทางบนมอเตอร์เวย์ของประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพและทัดเทียมมาตรฐานสากล
“คาดว่าจะสามารถออกประกาศเชิญชวนพร้อมจำหน่ายเอกสารประกวดราคาได้ภายในเดือนเมษายน 2567 จากนั้นให้เอกชนจัดเตรียมเอกสารต่างๆ คาดว่า 3-4 เดือน เช่นเดียวกับที่กรมได้ดำเนินการกับโครงการอื่นๆ ในช่วงก่อนหน้านี้พร้อมกับเร่งประเมินข้อเสนอแต่ละซองควบคู่กันไป หากรวมกระบวนการทั้งหมดคาดว่าจะแล้วเสร็จได้ตัวผู้รับจ้างภายในปลายปีนี้ ส่วนต้นปี 2568 น่าจะเริ่มต้นลงนามสัญญาได้ โดยมีระยะเวลาสัญญาดำเนินการ 32 ปี(ระยะเวลาสัญญา 30 ปี ระยะเวลาออกแบบและติดตั้ง 2 ปี)”
กลุ่มบีทีเอส-กลุ่มดอนเมืองโทล์ลเวย์พร้อมชิงเค้ก
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ธุรกิจมูฟ กลุ่มบีทีเอสและบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพจำกัด(มหาชน) กล่าวว่าเมื่อทล.ประกาศขายทีโออาร์ยืนยันว่าจะเข้าไปจัดซื้อเพื่อมาศึกษารายละเอียดอย่างแน่นอนเนื่องจากบริษัทมีความพร้อมและมีประสบการณ์เพราะปัจจุบันได้รับดำเนินการของมอเตอร์เวย์ M6 และ M81 จึงพร้อมแข่งขันในเส้นทางสาย M82 อย่างแน่นอน
“จึงขอรอศึกษาทีโออาร์ชัดเจนก่อนแต่คิดว่าคงจะไม่แตกต่างจากสาย M6 และ M81 ที่สามารถคำนวณต้นทุนได้ชัดเจนกว่าพร้อมเข้าสู่โหมดระบบ M-Flow ได้ทันทีขึ้นอยู่กับนโยบายของผู้บริหารกระทรวงคมนาคม เชื่อว่าครั้งนี้คงมีแข่งขันมากรายเช่นครั้งก่อนนี้ที่มีเข้าร่วมแข่งขันมากถึง 3 รายซึ่งกลุ่มบีทีเอสยังทำได้ดีกว่า แม้ว่าปัจจุบันทั้ง M6 และ M81 ยังล่าช้ากว่าแผนก็ตามเนื่องจากได้รับมอบพื้นที่ล่าช้า M81 จึงล่าช้าออกไปไม่กี่เดือนแต่สามารถเปิดใช้งานได้อย่างแน่นอน ส่วน M6 คงราว 1 ปีเพราะยังเข้าพื้นที่ไม่ได้ เชื่อว่าทล.จะขยายระยะเวลาให้แต่ปัจจุบันเปิดให้บริการได้ช่วงหนึ่งแล้วซึ่งถือเป็นอีก 2 ผลงานที่กลุ่มบีทีเอสได้เข้ารับดำเนินการงานระบบ O&M เส้นทางมอเตอร์ของทล.”
ดร.ศักดา พรรณไวย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทมีความพร้อมเต็มที่ทั้งบุคลากรและเรื่องทุนดำเนินการที่เข้มแข็งพร้อมร่วมแข่งขันได้ทันทีแต่ขอศึกษารายละเอียดเอกสารประกวดราคาให้ชัดเจนก่อน ยืนยันว่าทุกเส้นทางกลุ่ม DMT พร้อมร่วมแข่งประมูล โดยเฉพาะเส้นทาง M5 ส่วนต่อขยายดอนเมืองโทล์ลเวย์เชื่อมถึงบางปะอิน